แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณ หมวดครุภัณฑ์การแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณ หมวดครุภัณฑ์การแพทย์ และศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณ เพื่อเสนอแนะแนวทางที่ได้จากการศึกษาวิจัย เป็นข้อเสนอในการปรับกระบวนการดำเนินงานด้านงบประมาณ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อให้เกิดความครอบคลุมและครบถ้วน โดยการใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลกับบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านงบลงทุนที่ปฏิบัติงานอยู่ในภาควิชาและหน่วยงานที่มีการดำเนินภารกิจด้านการรักษาพยาบาล จำนวน 30 คน และใช้การสัมภาษณ์ (Interview) ผู้บริหารที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณ รวมทั้งมีหน้าที่เกี่ยวข้องในกระบวนการงบประมาณ จำนวน 6 คน
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ปัญหาที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณ หมวดครุภัณฑ์การแพทย์ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมการ ขั้นระหว่างดำเนินการ และขั้นหลังดำเนินการ ซึ่งในขั้นเตรียมการพบว่า ผู้บริหารและบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านงบลงทุน ขาดความรู้และความเข้าใจขั้นตอนการดำเนินงานด้านงบประมาณของครุภัณฑ์การแพทย์ที่ชัดเจนและครบถ้วน รวมถึงปัญหาเรื่องการทบทวนและแก้ไขรายละเอียดคุณลักษณะของครุภัณฑ์การแพทย์ก่อนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีของครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว ประกอบกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ต้องใช้ระยะเวลาในการทบทวนและแก้ไขหลายครั้ง อีกทั้งผู้กำหนดรายละเอียดคุณลักษณะมีภารกิจหลายด้าน จึงก่อให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ ขั้นระหว่างดำเนินการพบว่า ผู้บริหารและบุคลากรขาดความรู้ ความเข้าใจเรื่องระเบียบการบริหารงบประมาณ และระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุภาครัฐที่ชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ ทำให้กระบวนการและขั้นตอนการทำงานเพิ่มมากขึ้น และต้องใช้ระยะเวลาการดำเนินการเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของขั้นหลังดำเนินการพบว่า ผลการดำเนินการด้านงบลงทุนของคณะฯ ยังไม่บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งผู้บริหารและบุคลากรจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณให้ทันภายในปีงบประมาณ รวมทั้งต้องมีการเร่งรัดการดำเนินการในทุกกระบวนการ โดยให้ความสำคัญและคำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวม
ในส่วนของแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเพื่อให้การบริหารงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารและบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดซื้อครุภัณฑ์การแพทย์ จำเป็นต้องรู้กฏ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง มีการทบทวนความรู้และเพิ่มพูนความรู้ใหม่ รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาความสามารถในการดำเนินการได้ดียิ่งขึ้น และใช้ความรู้เป็นอาวุธติดตัวให้สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยำ รวมทั้งต้องใช้การบริหารแบบมีส่วนร่วม มีการควบคุม ติดตาม และกำกับดูแลในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน และเน้นการรายงานผล ซึ่งจะทำให้ทราบความคืบหน้า ปัญหาอุปสรรค และสามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาระหว่างทางได้ทัน รวมทั้งการมีระบบการสื่อสารที่ดีและเข้าใจง่าย โดยมีการกำหนดปฏิทินการทำงานหรือแผนการทำงานที่ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา มีคู่มือการปฏิบัติงาน มีการกำหนดแผนการดำเนินงานแต่ละขั้นตอน และตัวอย่างความสำเร็จในการทำงานเพื่อให้เห็นภาพการดำเนินงานได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.