บทบรรณาธิการ

Main Article Content

ทิพย์พาพร มหาสินไพศาล

บทคัดย่อ

          เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา และทรงมีพระราชดำรัสอย่างชัดเจนในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

          “การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นอันพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด...” พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงประกอบด้วย เรื่องความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน โดยมีเงื่อนไขการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในเงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม ซึ่งเห็นได้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ยึดหลักทางสายกลาง แต่มีความพร้อมที่จะจัดการต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง

          พลังแห่งแนวพระราชดำรินี้ได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 และอีกหลายครั้งเศรษฐกิจพอเพียงไม่เพียงแต่เป็นการดำเนินชีวิตอย่างสมดุลและยั่งยืน แต่ยังเป็นระบบการพัฒนาที่ทำให้ประเทศและประชาชนอยู่ได้แม้ในโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันสูง เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แค่ “พออยู่พอกิน” แต่ยังสามารถรุดหน้าอย่างมั่นคงได้

          ในวารสารปัญญาภิวัฒน์ฉบับนี้ได้นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจพอเพียง” 3 บทความ ได้แก่ เรื่อง “แนวทางปฏิบัติ 6 หลักการในการจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เรื่อง “พฤติกรรมการใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกรกับคุณภาพชีวิตเกษตรกรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และเรื่อง “การพัฒนาตัวแบบการประเมินความเสี่ยงตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยการบูรณาการความเสี่ยงทางธุรกิจและบริบทของวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดสมุทรปราการ” รวมทั้งยังมีบทความที่น่าสนใจอื่นๆ อีกหลายเรื่อง

          นอกจากนี้ วารสาร International Scientific Journal of Engineering and Technology ที่เผยแพร่ผลงานวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวารสาร Chinese Journal of Social Science and Management ที่เผยแพร่ผลงานด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วารสารทั้ง 2 เล่มนี้จัดดำเนินการโดยสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กำลังเปิดรับต้นฉบับบทความเพื่อเผยแพร่ในฉบับที่ 2 ประจำเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2560 ผู้สนใจสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ journal.pim.ac.th

Article Details

บท
บทบรรณาธิการ