การจัดทำวารสาร “รัฐศาสตร์นิเทศ” ฉบับนี้มีความแตกต่างจากฉบับก่อนหน้าสองประการ ประการแรก ฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่ถูกจัดตีพิมพ์ออกมาภายหลังจากที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 แถลงการณ์ยุติสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 ที่ได้แพร่ระบาดมากว่าสามปี โดยการประกาศดังกล่าวนั้นมีนัยเชิงสัญลักษณ์ว่าการต่อสู้กับเชื้อไวรัสที่สร้างความชะงักชะงันในโลกกำลังจะสิ้นสุดลงในระยะเวลาอันใกล้นี้ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับการจัดทำวารสารรัฐศาสตร์นิเทศปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2564) นั้น จะเห็นได้ว่าบทบรรณาธิการในฉบับที่ว่าระบุว่าผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดของวารสารได้เริ่ม “Work From Home” เต็มเวลาเป็นครั้งแรกอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ทวีความรุนแรงขึ้นมาก ดังนั้นเมื่อเทียบกันกับการจัดทำรัฐศาสตร์นิเทศในฉบับนี้ (ปีที่ 9 ฉบับที่ 1, พ.ศ. 2566) นั้น ต้องนับว่ากองบรรณาธิการมีความรู้สึกโล่งใจเป็นอย่างยิ่งที่สามารถดำเนินการจัดทำวารสารในสภาวการณ์ปรกติได้อีกครั้งหนึ่ง ทางกองบรรณาธิการหวังว่าประชาคมโลกจะสามารถเอาชนะเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ในท้ายที่สุด

 

ความสำคัญประการที่สองของวารสารฉบับนี้นั้นเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการภายในของทางวารสาร กองบรรณาธิการขอแจ้งผู้อ่านว่าทางวารสารได้มีการเปลี่ยนมือตำแหน่งบรรณาธิการประจำวารสารจาก รศ.ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ มาเป็น ผศ.ดร.พีระ เจริญวัฒนนุกูล ซึ่งเป็นการรับไม้ต่อที่ค่อนข้างหนักอึ้ง นั้นเป็นเพราะว่าบรรณาธิการท่านเดิมได้สร้างมาตรฐานการจัดทำวารสารเอาไว้อย่างดีเยี่ยมและยังได้มาตรฐานทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ด้วยเหตุนี้ทีมกองบรรณาธิการชุดใหม่นี้จึงมุ่งหวังที่จะต่อยอดมาตรฐานที่ว่าให้ยั่งยืนอีกทั้งจะปรับปรุงและนำเสนอการเผยแพร่วารสารในวงกว้างมากยิ่งขึ้นโดยทางทีมกองบรรณาธิการชุดใหม่ไม่เพียงแต่ที่จะเผยแพร่วารสารผ่านรูปแบบออนไลน์เพียงอย่างเดียว แต่จะประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ให้มากขึ้นอีกด้วยเช่นกัน

 

ในส่วนของบทความในวารสารฉบับนี้นั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นฉบับที่ครอบคลุมสี่มิติของการศึกษารัฐศาสตร์เลยทีเดียว กล่าวคือ เป็นฉบับที่มีการอภิปรายการเมืองผ่านสี่มิติอันประกอบไปด้วยมิติด้านอำนาจ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และความเป็นธรรมในสังคม บทความที่เกี่ยวข้องกับอำนาจนั้นเป็นบทความของ ฐิติกร สังข์แก้ว ซึ่งอภิปรายการเมืองไทยผ่านกรอบแนวคิด “ระบอบอำนาจนิยมแบบแข่งขัน” (competitive authoritarianism) ผ่านสถาบันประชาธิปไตยของไทย โดยชี้ให้เห็นว่าการเลือกตั้งภายใต้ระบอบอำนาจนิยมเปิดช่องให้รัฐบาลอำนาจนิยมจัดสรรปันส่วนรางวัลทางการเมืองให้แก่กลุ่มต่าง ๆ เพื่อสร้างความลงตัวทางการเมืองได้ง่ายขึ้น บทความชิ้นถัดไปของ วันพัฒน์ ยังมีวิทยา ซึ่งศึกษาแผนพัฒนาเศรษฐกิจของ ปรีดี พนมยงค์ ที่รู้จักกันในนาม “สมุดปกเหลือง” โดยที่เนื้อหาของบทความวิพากษ์ปัญหาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวว่าไม่ได้สร้างความเป็นเสรีภาพหรือประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจแต่อย่างใดหากแต่เป็นแนวทางที่อาศัยการรวมศูนย์ของรัฐเป็นสำคัญ บทความของ ซูไฮลี ยามา และ สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์ ได้ศึกษานโยบายด้านพหุวัฒนธรรมของกลุ่มคนมาเลเซียเชื้อสายไทยโดยพิจารณาในมุมมองของทางรัฐบาลมาเลเซียในการลดความขัดแย้งอันมาจากความแตกต่างในด้านชาติพันธุ์ บทความสุดท้ายเป็นบทความของ สัณหกฤษณ์ บุญช่วย ซึ่งพยายามจะสร้างข้อเสนอแนวทางการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมของประเทศไทยผ่านนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของไทย

 

ทางกองบรรณาธิการหวังว่าบทความทั้งสี่ชิ้นนี้จะช่วยสร้างข้อถกเถียงทางวิชาการและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายมากยิ่งขึ้นในสังคมไทย ทางวารสารหวังว่าจะได้รับบทความที่มีลักษณะสร้างข้อถกเถียงเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ต่อไปในอนาคต

 

กองบรรณาธิการ

วารสารรัฐศาสตร์นิเทศ

เผยแพร่แล้ว: 27-06-2023