การสื่อสาร การต่อรองกับความขัดแย้ง และการปรับตัวของชุมชนการท่องเที่ยว กรณีศึกษาเปรียบเทียบชุมชนในจังหวัดแถบอันดามัน

Main Article Content

วัชรี หิรัญพันธุ์
รศ.ดร.อัศวิน แสงพิกุล
รศ.ดร.สมสุข หินวิมาน

บทคัดย่อ

                การศึกษาวิจัยเรื่อง “การสื่อสารเพื่อการต่อรองกับความขัดแย้งและการปรับตัวของชุมชนการท่องเที่ยวกรณีศึกษาเปรียบเทียบจังหวัดแถบอันดามัน” มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อ (1) เปรียบเทียบบริบทชุมชนในมิติต่างๆ และทุนชุมชนที่สัมพันธ์กับการสื่อสาร (2) ศึกษาการสื่อสารด้านการท่องเที่ยว (3) ศึกษาความขัดแย้งและการสื่อสารเพื่อจัดการกับความขัดแย้ง (4) ศึกษาการสื่อสารเพื่อการต่อรอง การใช้อำนาจ และการปรับตัว (5) เปรียบเทียบการสื่อสารเพื่อการต่อรองกับความขัดแย้งและการปรับตัว ของชุมชนการท่องเที่ยวป่าตอง ซึ่งมีลักษณะการท่องเที่ยวแบบมวลชน และชุมชนการท่องเที่ยวเกาะยาวใหญ่ที่มีลักษณะการท่องเที่ยวทางเลือก กลุ่มผู้ให้ข้อมูลในชุมชนประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ และชาวบ้าน โดยใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์จากเอกสาร การสังเกต และการสัมภาษณ์ ซึ่งผู้วิจัยได้นำแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับทุนของ ปิแอร์ บูร์ดิเยอ และการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม รวมทั้งเรื่องความขัดแย้ง การต่อรอง อำนาจ และการปรับตัวมาเป็นกรอบในการวิเคราะห์ร่วมกับแนวคิดและทฤษฎีด้านการสื่อสาร


                ผลการวิจัยพบว่า ชุมชนการท่องเที่ยวป่าตองมีทุนทางกายภาพและทุนเศรษฐกิจที่มีศักยภาพหลักในการต่อรองด้านการท่องเที่ยวมายาวนาน หน่วยงานภาครัฐในชุมชนทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารหลัก โดยเน้นการสื่อสารจากบนลงล่างและใช้สื่อมวลชนเป็นช่องทางในการสื่อสารร่วมกับสื่อกิจกรรม พบการสื่อสารภายในชุมชนออกสู่ภายนอกมากกว่าการสื่อสารภายในชุมชน ความขัดแย้งที่เกิดจากการท่องเที่ยวมีความหลากหลายและมีระดับที่เข้มข้น จึงนิยมใช้พระราชบัญญัติ กฎระเบียบ เข้ามาบริหารจัดการความขัดแย้งได้อย่างรวดเร็ว จากกรณีศึกษาปัญหาขยะและความปลอดภัยยังคงมีอยู่ในชุมชน แม้จะใช้รูปแบบการสื่อสารที่หลากหลาย โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งภายในและภายนอกชุมชนเข้ามาช่วยจัดการ การรวมตัวของผู้ประกอบการมีอำนาจในการต่อรองด้านการท่องเที่ยว และผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเกิดการปรับตัว ส่วนชุมชนการท่องเที่ยวเกาะยาวใหญ่ มีทุนสังคมและทุนสัญลักษณ์ที่เกิดจากความเข้มแข็งทางศาสนาอิสลาม หน่วยงานภาครัฐมีบทบาทหน้าที่สื่อสารหลักในรูปแบบจากล่างขึ้นบน เน้น การสื่อสารด้วยสื่อบุคคลและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา มีการสื่อสารภายในชุมชนมากกว่าการสื่อสารภายในชุมชนออกสู่ภายนอก ความขัดแย้งจากการท่องเที่ยวมีน้อยและอยู่ในระดับบางเบา ใช้การสื่อสารพูดคุยไกล่เกลี่ยโดยอาศัยความเป็นเครือญาติเพื่อจัดการความขัดแย้ง จากกรณีศึกษาปัญหาขยะและความปลอดภัย ยังอยู่ในระดับที่ชุมชนจัดการกันเองได้ กติกาชุมชนทำให้ชุมชนมีเอกลักษณ์และนำมาเป็นแนวปฏิบัติเพื่อต่อรองกับผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย และผู้ประกอบการรวมถึงนักท่องเที่ยวได้พยายามปรับตัวเข้าหาชุมชนเช่นกัน

Article Details

บท
บทความวิจัย