การวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนจากการลงทุนปลูกข้าวสังข์หยดของเกษตรกรในพื้นที่ 5 อำเภอ จังหวัดพัทลุง
Main Article Content
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาสภาพการปลูก ต้นทุนและผลตอบแทนในการลงทุนปลูกข้าวสังข์หยดพัทลุงของเกษตรกรในพื้นที่ 5 อำเภอ จังหวัดพัทลุง ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอควนขนุน อำเภอปากพะยูน อำเภอเขาชัยสนและอำเภอ บางแก้ว กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวสังข์หยดพัทลุง จำนวน 196 ราย เครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถาม ผลการวิจัยพบว่า เกษตรกรในพื้นที่ 5 อำเภอ จังหวัดพัทลุงที่เข้าร่วมโครงการปลูกข้าวสังข์หยดพัทลุงมากที่สุดเป็นอำเภอเมืองพัทลุง คิดเป็นร้อยละ 22.79 รองลงมาเป็นอำเภอควนขนุนและอำเภอปากพะยูน คิดเป็นร้อยละ 22.06 ตามลำดับ สมาชิกในครอบครัวเฉลี่ย 1-3 คน รายได้ครอบครัวเฉลี่ยต่อเดือน มากที่สุด 1,000-10,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 66.92 ส่วนสภาพของการปลูกข้าวสังข์หยดพัทลุงได้แบ่งขนาดพื้นที่การปลูกข้าวออกเป็น 3 ขนาด
ขนาดพื้นที่ปลูกข้าวเฉลี่ยต่อครอบครัว มากที่สุด 1-10 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 82.35 กรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินของเกษตรกรฯ โดยส่วนใหญ่เป็นที่นาของตนเองในพื้นที่ปลูกข้าว 1-10 ไร่ และ 11-29 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 87.85 71.43 ส่วนพื้นที่ปลูกข้าว 30 ไร่ขึ้นไป เป็นที่นาของตนเองและเป็นการเช่า คิดเป็นร้อยละ 90 แหล่งของเงินทุนที่ใช้ในการลงทุนปลูกข้าวสังข์หยดพัทลุงส่วนใหญ่เป็นเงินทุนของตนเอง คิดเป็นร้อยละ 86.03 ส่วนที่เหลือเป็นการกู้ยืม คิดเป็นร้อยละ 13.97 ยอดเงินกู้ยืมมากที่สุด คือ 30,001-50,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 42.86 แหล่งการจำหน่ายข้าวเปลือก มากที่สุดคือ โรงสีทั่วไป คิดร้อยละ 67.06
ผลการวิเคราะห์และประเมินต้นทุน ผลตอบแทนจากการลงทุนในการปลูกข้าวสังข์หยดพัทลุงในแต่ละขนาดพื้นที่ปลูกข้าว พบว่า พื้นที่การปลูกข้าวที่ได้รับความคุ้มค่าในการลงทุน มากที่สุด เป็นพื้นที่ปลูกขนาดเล็ก (1-10ไร่) โดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ(NPV) เท่ากับ 11,601.83 บาท อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน (B/C) เท่ากับ 1.63 เท่าและอัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) เท่ากับ 20.02% ซึ่งมากกว่า พื้นที่ปลูกขนาดใหญ่ (30 ไร่ขึ้นไป) โดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 9,722.82 บาท อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน (B/C) เท่ากับ 1.47 เท่าและอัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) เท่ากับ 17.02% และพื้นที่ปลูกขนาดกลาง(11-29ไร่) มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ(NPV)เท่ากับ 7,859.66 บาท อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน (B/C) เท่ากับ 1.45 เท่าและอัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) เท่ากับ 16.90%
ผลการวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคของการปลูกข้าวสังข์หยดพัทลุงของเกษตรกร มากที่สุด พบว่า (1) ด้านการผลิตเป็นการขาดน้ำในการทำการเกษตร เพราะฝนตกไม่เป็นไปตามฤดูกาล ต้องการให้ชลประทานเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ร้อยละ 7.69 (2) ด้านต้นทุนการผลิตเป็นต้นทุนการปลูกข้าวสูงประมาณไร่ละ 3,500 บาท เนื่องจากต้องจ้างทั้งหมด ร้อยละ 7.69 (3) ด้านการตลาด คือ ข้าวสังข์หยดมีตลาดรองรับค่อนข้างน้อยมีเฉพาะโรงสีของสหกรณ์ได้ราคาดี แต่จ่ายเงินล่าช้า ร้อยละ 25.64 และราคาข้าวจะถูกหากปริมาณข้าวเพิ่มขึ้น พ่อค้าคนกลางกดราคา ต้องการให้รัฐบาลให้การช่วยเหลือเกษตรกร ร้อยละ 12.82 (4) ความต้องการความช่วยเหลือ มากที่สุด คือ ต้องการให้โรงสีของสหกรณ์รับซื้อข้าวเป็นเงินสด เนื่องจากปีที่ผ่านมาได้รับเงินช้ามาก ร้อยละ 5.13 รองลงมา ต้องการให้ทางจังหวัดสนับสนุนสถานที่ในการขายข้าวแก่บุคคลทั่วไปด้วย ต้องการให้ศูนย์วิจัยข้าวพัฒนาพันธุ์ข้าวสังข์หยดที่ต้นแข็งแรงกว่าเดิม เพราะหากฝนตกต้นข้าวจะล้มง่ายและไม่ยืนต้น ควรสนับสนุนข้าวพันธุ์พื้นเมืองพันธ์อื่นด้วยที่เป็นของจังหวัดพัทลุง ต้องการความช่วยเหลือด้านเงินทุนในการกู้ยืมและดอกเบี้ยถูก ต้องการให้ราคาขายข้าวเปลือกสูงขึ้นและต้องการให้นักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้ความรู้หรือเป็นที่ปรึกษาเรื่องการแปรรูปของกลุ่มทำนาข้าวสังข์หยดให้ดีกว่านี้ คิดร้อยละ 2.56 ตามลำดับ
Article Details
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรง ซึ่งกองบรรณาธิการวาสารฯ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยหรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใด ๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากวารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตก่อนเท่านั้น
References
ชาญพิทยา ฉิมพาลี. (2556). สถิติและแนวโน้มพื้นที่ปลูกข้าวของประเทศไทย เข้าถึงจากเว็บไซต์: http://www.thairice.org/doc_dl/seminar-29Oct13/3-powerpoint (K.Chanpitaya).pdf วันที่ 8 ธันวาคม 2556
ณริดา ปันชัย.(2555). การวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนโครงการส่งเสริมการปลูก ข้าวอินทรีย์ เพื่อการส่งออกของเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่.การค้นคว้าอิสระ ปริญญามหาบัณฑิต.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
นิกร แสงเกตุ.(2553-2556).แนวทางพัฒนาข้าวสังข์หยดพัทลุง ปี 2553-2556.กลุ่ม แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจเขต 9 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง.สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว “ข้าวสังข์หยดพัทลุง”เข้าถึงจากเว็บไซต์: http://ptl.brrd.in.th/web/,วันที่ 8 ธันวาคม 2556
สมเกียรติ ชัยพิบูลย์.(2556).วิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนการปลูกข้าวเจ้านาปีในจังหวัดกำแพงเพชร ปีการผลิต2553/2554.วารสารมนุษยศาสตร์และ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.ปีที่ 32 ฉบับที่ 2 มีนาคม-เมษายน 2556.หน้าที่ 151-162
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร “ราคาสินค้ารายเดือน เข้าถึงจากเว็บไซต์: http://www.oae.go.th/download/price/monthlyprice/paddy14-15.pdf, วันที่ 8 ธันวาคม 2556
สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. สถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญและแนวโน้มปี 2557. เข้าถึงจากเว็บไซต์:http://www.oae.go.th/download/journal/trends_FEB2557.pdf, วันที่ 8 ธันวาคม