กลวิธีการรำโนราทำบท

Main Article Content

สมโภชน์ เกตุแก้ว
สุรพล วิรุฬห์รักษ์
พีระ พันลูกท้าว

บทคัดย่อ

โนรา เป็นศิลปะการแสดงพื้นเมืองภาคใต้ซึ่งประกอบด้วย การร้อง การรำและการแสดงเป็นเรื่อง การรำโนราจะยึดหลักการโสฬสหรือการจัดวางร่างกายให้ได้สัดส่วนในกระบวนการรำโนรา ความสัมพันธ์ต่อเนื่องในการรำ จะต้องเรียงร้อยท่ารำที่เลือกสรรลีลาของการใช้มือ ใช้แขน อย่างต่อเนื่อง


การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหากลวิธีของการรำโนราทำบทของครูโนรา 5 ท่าน โดยได้ศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูลในเรื่องของขั้นตอน วิธีการ หลักการของการสื่อความหมายของการกำหนดท่ารำตามบทร้องและท่วงทำนองดนตรีของการรำโนราทำบทจากครูทั้ง 5 ท่าน และจากโนราท่านอื่น ๆ ที่ได้แสดงโนราอยู่ในสังคมภาคใต้ แล้วนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อหากลวิธีของการรำโนราทำบทโดยนำทฤษฎีต่าง ๆ เช่น ทฤษฎีทางด้านการสื่อสารการแสดงมาเป็นแนวทางการวิเคราะห์และสังเคราะห์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ว่ามีกระบวนการอย่างไรบ้าง และผู้ที่จะรำโนราทำบทได้ดีนั้นจะต้องมีคุณสมบัติ


จากผลการวิจัยออกมาว่า คุณสมบัติของผู้รำโนราทำบทจากการศึกษาวิเคราะห์การรำโนราทำบททำให้ผู้วิจัยได้สังเคราะห์กระบวนการของการรำ ดังต่อไปนี้ 1) มีความรู้ความสามารถในฉันทลักษณ์ของบทกลอน มีความเชี่ยวชาญในการแต่งคำกลอน และมีปฏิภาณ ไหวพริบในการโต้ตอบด้วยคำกลอน 2) มีความรู้ความสามารถที่ดีในการรำท่าหลักของโนราสามารถพลิกแพลงท่ารำให้สอดคล้องสัมพันธ์กับการร้องและจังหวะดนตรี 3) มีบุคลิกของผู้สร้างความบันเทิง (entertainer) เพราะโนราทำบทต้องร้อง เล่น เต้น รำ 4) มีไหวพริบปฏิภาณในการพลิกแพลงทั้งการร้อง การเล่น การเต้น และการรำ และจากการศึกษาวิจัยพบว่ากระบวนการสร้างสรรค์ท่ารำโนราทำบทนั้นจะมีกรอบแนวคิดของการสร้างสรรค์ท่ารำของการรำโนราทำบทดังนี้ 1) สร้างท่ารำให้สอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพของสิ่งที่กล่าวถึงในคำร้อง 2) นำเอาอวัยวะในร่างกายที่พ้องเสียงกับสิ่งที่กล่าวถึงมาใช้สื่อความหมายตามคำนั้น ๆ 3) ใช้การแสดงออกด้วยการจัดท่าสัญลักษณ์เพื่อสื่อความหมาย 4) ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายประกอบบทร้องเพื่อสร้าง จินตนาการในความคิดของผู้ชม 5) ใช้ลักษณะท่ารำเลียนแบบพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ 6) ใช้การประยุกต์จากท่ารำแม่บทของโนรา 


สำหรับการรำโนราทำบทที่จะให้ถึงพร้อมทั้งอรรถรสและสุนทรียภาพนั้นจะต้องประกอบด้วยลักษณะการร้อง ท่วงทำนองดนตรี และลีลาท่ารำที่สอดคล้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างพอดีและลงตัว โดยผู้ที่จะรำโนราทำบทให้ได้ดีนั้นจะต้องมีความสามารถทั้งการร้องและการรำ การร้องบทในการรำโนราทำบทจะมีทำนองการร้องที่เหมือนกันแต่มีลักษณะของการร้องที่แตกต่างกันตามความรู้ความสามารถของผู้แสดงโนรา ลักษณะการร้องบทกลอนในการรำทำบทของโนราเรียกเป็น “ชั้น” โดยพื้นฐานของการรำทำบทแล้วการร้องในหนึ่งคำกลอนนิยมร้องบท 3 ชั้น โดยชั้นที่ 1 จะร้องทำนองกลอนในจังหวะช้าก่อน ต่อจากนั้นจึงร้องชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นการร้องแยกคำและใช้จังหวะที่เร็วขึ้น สุดท้ายจึงจะร้องรวบคำในชั้นที่ 3 และเร่งจังหวะให้เร็วขึ้นอีก เพื่อความสนุกสนานแล้วจึงร้องรับ ผู้วิจัยได้สังเคราะห์วิธีการร้องจากลักษณะการร้องของครูทั้ง 5 ท่านได้ดังนี้ 1) ร้องรวบคำเพื่อบอกลักษณะของบทร้อง 2) ร้องแยกคำ โดยใช้วิธีการแทรกคำ ซ้ำคำ หรือทวนคำ เพื่อให้พอดีกับจังหวะหน้าทับที่เรียกว่า ลงทับลงกลอน 3) ร้องรวบคำแต่เร่งจังหวะ เพื่ออวดความสามารถของการร้องและการรำให้เกิดความเชื่อมโยงสอดคล้องกัน 4) ลูกคู่รับ สำหรับการสร้างท่ารำนั้นผู้วิจัยพบว่า การรำจะสัมพันธ์กับการร้องทั้งทำนองและจังหวะ โดยผู้รำจะนำท่ามาจากท่าทางที่เลียนแบบธรรมชาติ ท่าทางที่นำท่ารำหลักของโนราที่ผู้รำเรียนมาเป็นพื้นฐาน ท่าทางที่นำสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาทำท่าและท่ารำโนราตัวอ่อน ผู้วิจัยได้พบว่ามีเกณฑ์ในการคัดเลือกท่ารำ คือ 1) ท่าที่สื่อความหมายตรง ๆ 2) ใช้ลักษณะของการพ้องคำพ้องเสียง 3) ความสามารถของผู้รำโนรา

Article Details

บท
บทความวิจัย
Author Biography

สมโภชน์ เกตุแก้ว, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

นักศึกษาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาการวิจัยทางด้านศิลปกรรม

References

ฉันทนา เอี่ยมสกุล. (2554). ศิลปะการออกแบบท่ารำ(นาฏศิลป์ไทยสร้างสรรค์). กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์.

ชุดา จิตพิทักษ์. (2525). พฤติกรรมศาสตร์เบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ : สารมวลชน.

ธีรวัฒน์ ช่างสาน. (2543). พรานโนรา. วิทยานิพนธ์ ศศ.ม. คณะศิลปกรรมศาสตร์ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นิคอเละ ระเด่นอาหมัด. (2543). ทฤษฎีจิตรกรรม. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพ : โอเดียนสโตร์.

นันท์ อนวัชพิรวงศ์ และคณะ. สุนทรียศาสตร์ การศึกษาเรื่องการแสดงและชื่อจินตคดี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ประเมษฐ์ บุญยะชัย. (2543). นาฏศิลป์ไทยวิจักขณ์. เอกสารประกอบการสอนวิชา ศ.0229 ภาควิชานาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลปกรุงเทพ กองศิลปศึกษา : กรมศิลปากร.

พจมาลย์ สมรรคบุตร. (2538). แนวคิดการประดิษฐ์ท่ารำเซิ้ง. ภาควิชานาฏศิลป์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ : มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี.

พิชิต ฤทธิ์จรูญ. (2544). ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ : เฮ้าส์ออฟเคอร์มีสท์.

ไพโรจน์ ทองคำสุก. “และคณะ”. ( 2545). วิเคราะห์รูปแบบความเป็นครูสู่กระบวนการถ่ายทอดความรู้ของผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ กรมศิลปากร.

ศูนย์จิตต ปัญญาศึกษา. (2551). ศิลปะสร้างสรรค์ดุลยภาพชีวิตจากภายใน. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ : ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล.

สุกัญญา ทรัพย์ประเสริฐ.(2543). นาฏยประดิษฐ์ของประทิน พวงสำลี. วิทยานิพนธ์ ศศ.ม. คณะศิลปกรรมศาสตร์ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุรพล วิรุฬห์รักษ์. “และคณะ”. (2539). ลิเก. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว.

สุรพล วิรุฬห์รักษ์. (2543). นาฏยศิลป์ปริทรรศน์. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ : หสน.ห้องภาพสุวรรณ.

สุรพล วิรุฬห์รักษ์. (2549) นาฏยศิลป์รัชกาลที่9. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

แสง มนวิทูร. นาฏยศาสตร์. (2541). พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กรมศิลปากร.

อรวรรณ ขมวัฒนา. รำไทยในศัตวรรษที่2แห่งกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : โครงการตำราวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม.

อรวรรณ ขมวัฒนา, “และคณะ”. (2550). นาฏยลีลา1 ลีลาท่ารำ1. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว.

Chua Soo Pong. (1995). Traditional Theatre in Southeast Asia. Singapore : Uniperssfor SPAFA.

Joha Hodgson and Ernest Richards. (1966). Improvisation. First published. Great Britain : Methuen & Co Ltd.

Marcia L.Lloyd. 2014. Creative Dance A Manval for Teaching all ages. Malasia : University of Malaya Press.