มาตรการทางกฎหมายในการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยที่เกิดจากโฮมสเตย์ กรณีศึกษา ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน และตำบลด่านสวี อำเภอสวี ในจังหวัดชุมพร

Main Article Content

ตังเม ราชอัคคี

บทคัดย่อ

เมื่อทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลงจึงทำให้มนุษย์แสวงหาธรรมชาติมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา การแสวงหาวิธีหนึ่ง คือ การใกล้ชิดกับธรรมชาติด้วยการท่องเที่ยว ทำให้เกิดโอกาสของชุมชน ท้องถิ่นรวมถึงชาวบ้านที่มีที่อยู่อาศัยใกล้ชิดกับธรรมชาติ นำบ้านเรือนของตนมาดัดแปลงเป็นที่พักอาศัยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เพื่อให้มีรายได้และสามารถดำรงชีวิตได้หากแต่ในการแสวงหาโอกาสและได้มาซึ่งรายได้ของชาวบ้านในชุมชน ก่อให้เกิดปัญหาที่เกิดขึ้นจากโฮมสเตย์ คือ ปัญหาขยะมูลฝอยที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว อันส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมถึงส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในชุมชน


สาเหตุที่ทำให้ปัญหาขยะมูลฝอยจากโฮมสเตย์เกิดขึ้นเนื่องจากบริบทของกฎหมายที่มีเอื้อให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของโฮมสเตย์ไม่ถูกบังคับและควบคุมซึ่งแตกต่างจากการประกอบธุรกิจโรงแรม จึงทำให้เกิดปัญหามลพิษจากโฮมสเตย์ขึ้น งานวิจัยฉบับนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามาตรการทางกฎหมาย แนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับโฮมสเตย์ได้แก่ พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547กฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 ประกาศกรมการท่องเที่ยว เรื่อง กำหนดมาตรฐานบริการท่องเที่ยวมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย พ.ศ. 2554 ประกอบกับมาตรการทางกฎหมายแก้ไขเกี่ยวกับปัญหาขยะมูลฝอยตลอดจนปัญหามลพิษ ได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ตลอดจนมาตรการทางกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ราชการส่วนท้องถิ่นในฐานะส่วนราชการที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน ได้แก่ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและได้มาซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการก่อมลพิษของโฮมสเตย์เพื่อให้ทราบว่าประเทศไทยควรมีการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับโฮมสเตย์อย่างไรตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจากโฮมสเตย์


จากการวิจัยพบว่ามาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ไม่ก่อให้เกิดการบังคับและควบคุมโฮมสเตย์อย่างเฉพาะเจาะจงจึงทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยที่อาจนำมาสู่ปัญหามลพิษได้นอกจากนี้เพื่อให้สามารถกำกับดูแลโฮมสเตย์ด้านสิ่งแวดล้อมได้ควรมีการพิจารณาถึงเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมให้เกิดโฮมสเตย์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

Article Details

บท
บทความวิจัย