ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของสภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ศึกษากรณีการมีมติที่มีผลเป็นการไม่อนุมัติตำแหน่งทางวิชาการ

ผู้แต่ง

  • เนติ ปิ่นมณี -

คำสำคัญ:

ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่, ตำแหน่งทางวิชาการ, สภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

บทคัดย่อ

          การวิจัยนี้ศึกษาปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของสภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ในกรณีการมีมติที่มีผลเป็นการไม่อนุมัติตำแหน่งทางวิชาการให้แก่อาจารย์ โดยที่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของสภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเป็นการใช้อำนาจมหาชนตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 อันมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการสาธารณะด้านการศึกษาที่จัดทำโดยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เนื่องจากอาจารย์ถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทโดยตรงในการจัดทำหรือเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษากับสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ในกรณีที่เจ้าหน้าที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนกระทำละเมิดต่ออาจารย์โดยมีคำสั่งหรือมติที่มีผลเป็นการไม่อนุมัติตำแหน่งทางวิชาการให้แก่อาจารย์ที่ยื่นคำขอ  หากพิจารณาตาม “หลักความรับผิดของฝ่ายปกครอง” พบว่า แต่ละประเทศต้องตรากฎหมายเพื่อกำหนดว่า หน่วยงานของรัฐใดมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่อาจารย์ฯ แล้วจึงไล่เบี้ยเอาค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนดังกล่าวเพื่อให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนนั้นกลับคืนแก่หน่วยงานของรัฐ อันถือเป็นนิติสัมพันธ์ในเชิงกฎหมายมหาชนระหว่างหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐอาจจะไม่เรียกเก็บค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเต็มจำนวนก็ได้ โดยพิจารณาจากความยุติธรรมที่จะให้แก่เจ้าหน้าที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพราะสาเหตุแห่งการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน อาจมีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น ปริมาณงานที่มาก ความไม่พร้อมของระบบงานสนับสนุน เป็นต้น จากการศึกษากรณีที่เจ้าหน้าที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนในต่างประเทศ ทั้งในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมาย Common Law คือ ประเทศอังกฤษ และประเทศอินเดีย และประเทศที่ใช้ระบบกฎหมาย Civil Law คือ ประเทศเยอรมนี โดยที่เจ้าหน้าที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนซึ่งมีอำนาจ ตามกฎหมายจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแต่ละแห่งสำหรับใช้ในการปฏิบัติงาน และได้กระทำละเมิด ต่ออาจารย์โดยมีคำสั่งไม่อนุมัติตำแหน่งทางวิชาการให้แก่อาจารย์ตามที่ได้ยื่นคำขอ พบว่า ระบบกฎหมายในต่างประเทศดังกล่าวได้จัดให้มีกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ซึ่งสอดคล้องกับ“หลักความรับผิดของฝ่ายปกครอง” ตามที่กล่าวมา                                                                  

          แต่อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย เมื่อสภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้กระทำละเมิดต่ออาจารย์ โดยมีมติที่มีผลเป็นการไม่อนุมัติตำแหน่งให้แก่อาจารย์ที่ยื่นคำขอ สภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่อาจารย์ด้วยตนเอง เนื่องจากอาจารย์สามารถใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีกับสภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยตรงตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 หรือหากสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่อาจารย์ไปก่อนแล้ว ก็สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ย เพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนคืนจากสภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้ ตามนัยประมวลกฎหมายฉบับเดียวกัน มาตรา 76 ทั้งนี้เป็นเพราะบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ มิได้กำหนดให้สภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชน มีสถานะเป็น “เจ้าหน้าที่” จึงทำให้สภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจำต้องรับผิดทางละเมิดในกรณีดังกล่าวตาม “หลักความรับผิดส่วนตัว” ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  กรณีเช่นนี้จะทำให้สภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีความกังวลใจในการปฏิบัติหน้าที่พิจารณาอนุมัติตำแหน่งทางวิชาการ เนื่องจากเกรงว่าจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและต้องรับผิดโดยการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่อาจารย์ดังกล่าวด้วยตนเอง อันจะส่งผลให้การพัฒนาคุณภาพทางด้านวิชาการของอาจารย์สถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีประสิทธิภาพน้อยลงไป และกระทบต่อประสิทธิภาพของบริการสาธารณะ ด้านการศึกษาด้วย เพราะอาจารย์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการจัดทำบริการสาธารณะดังกล่าว หากพิจารณาจากเหตุผลและหลักกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น พบว่า การแก้ไขปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของสภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ในกรณีการมีมติที่มีผลเป็นการไม่อนุมัติตำแหน่งทางวิชาการให้แก่อาจารย์ สามารถดำเนินการได้โดยการจัดให้มี พระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... โดยเพิ่มเติมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเป็น “หน่วยงานของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งจะทำให้สภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีสถานะเป็น “เจ้าหน้าที่” ตามนัยกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ และได้รับการคุ้มครองในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาอนุมัติตำแหน่งทางวิชาการ รวมถึงมีความสอดคล้องกับ “หลักความรับผิดของฝ่ายปกครอง”

References

Manjeri Subin Sunder Raj, Ujai Kumar Mookherjee, and Aman Deep Bar thakus. (2021). Comparative Tort Law, Chapter 20 : Tort Law in India. Retrieved from https://www.elgaronline.com/dispaly/edcoll/97817/89905977/9781789905977.00028.xml

คดี Common Cause V. Union of India (1999).

คดี Mercy Dock Trustees V. Gibbs and Others L.R.1.H.L98 (1866).

คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่, 291/2556.

ชาญชัย แสวงศักดิ์. (2554). คำอธิบายกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐโดยปราศจากความผิด. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน.

ทบวงมหาวิทยาลัย. (2535). สองทศวรรษทบวงมหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: ทบวงมหาวิทยาลัย.

พัชฌา จิตรมหึมา. (2548). ทิศทางแห่งการพัฒนากฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา.

มหาวิทยาลัยศรีปทุม. (2566). แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่. สืบค้นจาก http://dsspace.spu.ac.th/bitstream/123456789/5486/7/7.บทที่ 2.pdf

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-05-31