CEO โลกตะวันออก (ฉบับเข้มข้น)
บทคัดย่อ
การบริหารองค์กร มีองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาหลายองค์ประกอบ องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือ ผู้บริหาร ด้วยเหตุนี้ จึงมีหนังสือหรืองานเขียนเพื่อเป็นแนวทางการบริหารมากมายหลากหลายทั้งแนวคิดและการปฏิบัติ หนังสือ CEO โลกตะวันออกเล่มนี้ มีความโดดเด่น น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยชื่อหนังสือเล่มนี้ให้ความสำคัญในศาสตร์และวิธีคิดแบบตะวันออก โดยเน้นจีนเป็นหลัก สำหรับผู้แนะนำไม่ค่อยเห็นบ่อยนักที่จะมีงานเขียนแนวบริหารที่มีเนื้อหา ครอบคลุมแนวคิดต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางและเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ของแนวคิดที่ลึกซึ้งทั้งด้านศาสนา วิธีคิดทั้งภายในจิตใจและกายภาพภายนอก การคิดเชิงกลยุทธ์ที่นำศาสตร์กลยุทธ์โบราณอย่างตำราพิชัยสงครามซุนวู ผสมผสานกับเกมส์กระดานโบราณนับพันปีอย่างหมากล้อม (โก๊ะ) มาอธิบายในบริบทปัจจุบัน การกล่าวถึงคุณค่าของการบริหารในเชิงอุดมการณ์ทางสังคม การยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงทั้งในตะวันตกและตะวันออก ประกอบกับประสบการณ์การเป็น CEO องค์กรใหญ่อย่างคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ทำให้งานเขียนเล่มนี้เป็นคัมภีร์ของนักบริหารในแนวตะวันออกที่มีชื่อเสียงยาวนานมากกว่าทศวรรษ
ในหนังสือ CEO โลกตะวันออกฉบับเข้มข้น ความยาว 247 หน้า แบ่งออกเป็น 17 บท โดยจะเน้นแนะนำพิเศษบทที่ 1 – 7 เพราะเป็นแก่นของเนื้อหาทั้งหมด บทที่ 1, 2 และ 3 กล่าวถึงความเป็น CEO การแยกความแตกต่างระหว่าง HUNTER, GAMBLER และ CEO เนื้อแท้ภายใน CEO ไม่ใช่นักล่า “ที่ฉกฉวยโอกาส ไม่ใช่ นักพนัน” ที่พร้อมเดิมพัน อยากได้ผลตอบแทนระยะสั้น แต่ CEO คือ“นักบริหารสูงสุดขององค์กร” ที่สร้างธุรกิจให้เป็นสถาบันทรงคุณค่าในสังคม CEO มืออาชีพ คือผู้ที่ผสานระหว่างเจ้าของหรือนายจ้าง ลูกจ้าง และคุณค่าทางสังคมให้เกิดประโยชน์สมดุลทุกๆ ฝ่าย CEO ไม่ใช่เป็นเพียงตำแหน่งแต่คือบทบาทที่เป็นผู้วางกลยุทธ์ วางโครงสร้างวัฒนธรรมภายใน ดูแลงานปกครองเป็นเบอร์หนึ่งในการประชาสัมพันธ์เป็นเสมือน Conductor วงดนตรีที่คอยประสานให้ทุกอย่างลงตัว เป็นนักบัญชีการเงิน และเป็น “ครู” ให้กับองค์กร
บทที่ 4 และ 5 เป็นบทที่พิเศษมากๆ สำหรับงานเขียนด้านบริหาร เปิดบทด้วย หมากล้อม : ศาสตร์แห่งกลยุทธ์ หมากล้อม (โก๊ะ) คือ เกมส์กระดานโบราณ 1 ใน 4 ศาสตร์ชั้นสูงของจีน คือ การเขียนภาพเขียนพู่กัน ดนตรี และหมากล้อม คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ มองว่า การเรียนรู้ศาสตร์แห่งกลยุทธ์ที่ดีที่สุดคือ เรียนรู้จาก “หมากล้อม” เพราะเป็นกลยุทธ์บริสุทธิ์สามารถประยุกต์กับเรื่องต่างๆ ได้ทั้งหมด ทำให้เห็นภาพรวม เรียนรู้การเปลี่ยนแปลง ชัยชนะ ไม่ได้เกิดจากการเอาชนะคู่ต่อสู้แต่ คือ การบรรลุเป้าหมายของงานอันเป็นที่มาของปรัชญาหมากล้อมอันโด่งดัง คือ “ชนะได้ เพราะไม่คิดเอาชนะ” ต่อจากบทนี้เชื่อมไปที่บทว่าด้วย เต๋าแห่งกลยุทธ์ เป็นบทที่มองโลก จักรวาล และการดำเนินชีวิตแบบเต๋า การมองโลกแบบพลัง 2 ด้านที่ตรงข้ามแต่อาศัยซึ่งกันและกัน ของ ”หยินและหยาง” และเชื่อมโยงไปถึงเรื่อง “ความว่างสร้างสรรพสิ่ง” และมีการกล่าวถึงตำราพิชัยสงครามของซุนวู เกี่ยวกับการทำสงครามโดยใช้กลยุทธ์ 3 บทนี้จึงเป็นการกล่าวถึงการประยุกต์หลักการ 3 ศาสตร์ คือ เต๋า หมากล้อม และตำราพิชัยสงครามของซุนวู โดยอธิบายเพื่อเป็นเครื่องมือของ CEO ในแบบและวิถี CEO ตะวันออก
บทที่ 6 และ 7 กลยุทธ์การบริหาร: เพลงกระบี่ CEO เป็นบทที่แนะนำให้ CEO ใช้ “เต๋า”และ “กลยุทธ์”(หมากล้อมและตำราพิชัยสงครามซุนวู) มาประยกต์ใช้ในเชิงปฏิบัติ โดยมองว่าการมีแผนกลยุทธ์การบริหาร แต่ไม่มีเต๋า ไม่อาจสร้างวัฒนธรรมที่เข้มแข็งให้กับองค์กรได้ เพราะขาดคุณธรรม ขาดการอ่อนน้อมถ่อมตัว CEO แบบมี “เต๋า” มีทั้งวิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) กลยุทธ์ (Strategy) และมีคุณธรรมแบบมนุษยนิยม (Humanism) คนคือสิ่งสำคัญที่สุด CEO แบบโลกตะวันออกเน้นไปที่ “Maximized Strength” (ความแข็งแกร่งสูงสุด) โดยแสวงหา “Optimized Profit” (กำไรที่เหมาะสม) วิถีแห่ง CEO จึงมีความอดทน อ่อนน้อมถ่อมตน (แบบปรัชญาเต๋า) สายตายาวไกล ใจเปิดกว้าง สร้างคนรุ่นใหม่และจากไปอย่างสวยงามและมีคุณค่า บทที่ 8 ค่าของคน บทที่ 9 ฮ่องกง, ดร.ป๋วย และออสเตรเลีย บทที่ 10 อาเสี่ยกับ CEO บทที่ 11 โรคหลบในของนักบริหาร บทที่ 12 กระบี่อยู่ที่ใจ บทที่ 13 โลกเชิงซ้อน บทที่ 14 วิถีธรรมแห่งธุรกิจ บทที่ 15 สินทรัพย์มหัศจรรย์ บทที่ 16 วิสัยทัศน์คัดสรรคน และบทที่ 17 มุ่งสู่องค์กรและอุดมการณ์ในภาพรวมเป็นบทที่ขยายความเรื่องคุณค่าของคนและการทำธุรกิจ การยกตัวอย่างบุคคลสำคัญและเรื่องราวจากต่างประเทศ การแสดงถึงทัศคติของผู้บริหาร การผสมผสานกันของโลกปัจเจกบุคคล สังคม และจักรวาลเป็นหนึ่งเดียวกัน และกล่าวถึงเป้าหมายสูงสุดการเป็น CEO คือการมีอุดมการณ์ทำให้สังคมภาพรวมสงบสุข การเลือกคนเข้าทำงานที่ต้อง “เก่ง” “แกร่ง” และ “กัดไม่ปล่อย” เป็นต้น
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารสุทธิปริทัศน์ ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสาร ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใดๆ
บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารสุทธิปริทัศน์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารสุทธิปริทัศน์หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใด ๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากวารสารสุทธิปริทัศน์ก่อนเท่านั้น