การเมืองของความทรงจำในสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้

ผู้แต่ง

  • วิไลวรรณ จงวิไลเกษม

คำสำคัญ:

ความทรงจำร่วมทางสังคม, เรื่องเล่า, สื่อกับการประกอบสร้างความจริงทางสังคม, ความรุนแรงสามจังหวัดภาคใต้

บทคัดย่อ

งานวิจัยเรื่อง “การเมืองของความทรงจำในสถานการณ์ความรุนแรงพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้” เป็นการศึกษากระบวนการที่รัฐสร้างเรื่องเล่าชุด “สันติสุข” เพื่อสร้างความชอบธรรมต่อการจัดการปัญหาความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ และปัญหาการต่อสู้ระหว่างเรื่องเล่าชุด ที่รัฐสร้างที่หยิบมาจากความทรงจำแบบฉบับทรายขาว กับความทรงจำอันหลากหลายของชุดชาวบ้าน ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้คำถามการวิจัย 3 ข้อ หนึ่ง รัฐมีกระบวนการสร้างเรื่องเล่าในนาม “สันติสุข” อย่างไรต่อพื้นที่ตำบลทรายขาว ทั้งในเชิงความหมายและอัตลักษณ์ให้แก่พื้นที่ สอง ชาวบ้านทรายขาวจัดการกับเรื่องเล่าชุดที่รัฐสร้างอย่างไร และข้อสุดท้าย เรื่องเล่าชุด “สันติสุข” ยังคงทรงอำนาจอย่างไรในสภาวะความเปลี่ยนแปลงทางความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยมีแนวคิดเรื่องการเมืองของความทรงจำเป็นกรอบหลักในกระบวนการศึกษา

งานวิจัยพบว่า กลไกรัฐประกอบสร้างพื้นที่ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานีให้ เป็น “พื้นที่สันติสุข” เริ่มจากการประกาศให้พื้นที่ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่สันติสุขแห่งแรกในจังหวัดปัตตานีด้วยความเป็นพื้นที่ที่ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 และเป็น “พื้นที่พิเศษ” เพราะมีระบบการปกครองท้องถิ่นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง “กำนัน” ที่ใช้ วิธีผลัดกันดำรงตำแหน่งระหว่างคนพุทธและคนมุสลิม ในบริบททางประชากรที่จำนวนชาวพุทธและ มุสลิมในพื้นที่ทรายขาวใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ คนมลายูมุสลิมในทรายขาวยังไม่พูดมลายูเหมือนที่อื่น และรัฐเลือกความทรงจำแบบฉบับทรายขาวฉบับปู่เจ้านองซึ่งเป็นความทรงจำท้องถิ่นที่บอกเล่าการ อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ระหว่างคนพุทธและคนมุสลิมมาให้ความหมายกับ“มัสยิดโบราณ 300 ปี” ในฐานะสัญลักษณ์บรรจุความทรงจำ

กระบวนการดังกล่าวเท่ากับรัฐกำลังสถาปนา “ภูมิศาสตร์การเมือง” ในการจัดการความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้รูปแบบหนึ่ง นำไปสู่การรับรู้ของคนทั่วไปทั้งในและนอกพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ว่า พื้นที่สันติสุข คือ “ความจริง” ผ่านการนำเสนอข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวบนพื้นที่สื่อสาธารณะ ขณะเดียวกันกระบวนการทางการเมืองนี้เท่ากับเป็นการกดทับ ปิดกั้นมุมมองของคนในและนอกพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ เพราะการที่รัฐหยิบพื้นที่ทรายขาวและหยิบความทรงจำแบบฉบับทรายขาวส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ทำให้เรื่องเล่าชุด “สันติสุข” ที่รัฐสร้างขึ้นถูกท้าทาย ปะทะกับความทรงจำอื่นที่แตกต่างของชาวบ้านทรายขาวทั้งคนพุทธและคนมุสลิม ที่มีผลต่อเรื่องเล่าชุด “สันติสุข” ที่รัฐสร้างขึ้น แสดงให้เห็นถึง “พลัง” ของความทรงจำ แตกต่าง

References

กาญจนา แก้วเทพ. (2541). สื่อมวลชน ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์.

คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.). (2549). เอาชนะความรุนแรงด้วยความสมานฉันท์. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 206/2549 เรื่อง นโยบายเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์.(2551). ความรุนแรงกับการจัดการ ความจริง: ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ธงชัย วินิจจะกูล.(2538). คำนำเสนอ ชาติไทย, เมืองไทย และ นิธิ เอียวศรีวงศ์. ใน ชาติไทย,เมืองไทย, แบบเรียน และอนุสาวรีย์ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐและรูปการจิตสำนึก.ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.

รายงานยุทธศาสตร์จัดการความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2554-2547. (2554).โดย โครงการยุทธศาสตร์สันติวิธีสำหรับสังคมไทยในศตวรรษที่ 21, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)The TRF Forum ฉบับที่ 6 ปีที่ 2 (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2554), น. 25-48.

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี. (2554). ห้าปีห้าเดือน: รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรอบ 65 เดือน. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2554, จาก http://www.deepsouthwatch.org/node/2305

Halbwachs, M. (1992). On Collective Memory. Transl./ed.L.A. Coser. Chicago: University of Chicago Press.

Nora, P. (1995). Realms of Memory: Rethinking the French Past. New York: Columbia University Press.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-07-03