การพัฒนารายการข่าวทางสื่ออินเทอร์เน็ตทีวี (IPTV) สำหรับคนหูหนวก

ผู้แต่ง

  • ศิวนารถ หงษ์ประยูร ภาควิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

คำสำคัญ:

คนหูหนวก, คนพิการ, รายการข่าว, ภาษามือ, โทรทัศน์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ โดยอาศัยระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะการเปิดรับข่าวทางสื่อแพร่ภาพและกระจายเสียงของคนหูหนวกในปัจจุบัน ศึกษาคุณลักษณะและเสนอแนวทางการพัฒนาและการผลิตรายการข่าวทางสื่ออินเทอร์เน็ตทีวี (IPTV) สำหรับคนหูหนวก แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ 1. ขั้นวางแผน รวบรวมความรู้ ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของคนหูหนวก การรับชมสื่อโทรทัศน์ของคนหูหนวก สัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน และสนทนากลุ่มกับตัวแทนคนหูหนวก 10 คน สรุปแล้วจัดทำแผนทดลองผลิตรายการ 2. ขั้นปฏิบัติการ ผลิตรายการข่าวออกอากาศทาง โทรทัศน์และทางอินเทอร์เน็ต และเปิดรับความคิดเห็นจากผู้ชมหูหนวก พร้อมเชิญตัวแทนผู้เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็น 3. ขั้นสังเกต ประชุมทีมงาน บันทึกผลการสังเกต พิจารณาความคิดเห็นจากผู้ชม 4. ขั้นสะท้อน พิจารณาผลการผลิต สรุปผลออกมาเป็นต้นแบบ (Model)

ผลการวิจัยพบว่า เนื่องจากไวยากรณ์ภาษามือที่คนหูหนวกใช้แตกต่างจากภาษาที่คนที่มีการได้ยินใช้สื่อสารกัน ทำให้คนหูหนวกไม่สะดวกเข้าถึงสื่อที่เป็นตัวอักษร เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออินเทอร์เน็ต รวมทั้งการเข้าถึงมีคำบรรยายในรายการโทรทัศน์ (Subtitle) คนหูหนวกไทยจำนวนมากจึงสนใจเปิดรับข้อมูลข่าวสาร และความบันเทิงจากสื่อโทรทัศน์ แต่ก็ยังมีอุปสรรคในการเข้าถึง เพราะจอล่ามในรายการโทรทัศน์มีขนาดเล็กเกินไป และยังมีรายการที่มีจอล่ามน้อยและไม่หลากหลาย ปัจจุบันคนหูหนวกจึงเปิดรับข่าวโทรทัศน์น้อยมาก ชมข่าวโทรทัศน์แต่เพียงภาพซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน และอาจจะต้องคนที่มีการได้ยินร่วมชมและอธิบายเพิ่มเติม

คนหูหนวกต้องใช้ภาษามือในการสื่อสาร ทำให้มีธรรมชาติในการเปิดรับสื่อโทรทัศน์ แตกต่างจากคนที่มีการได้ยินหลายประการ เช่น การจ้องภาษามือที่จอติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ดังนั้น รายการข่าวโทรทัศน์ทางสื่ออินเทอร์เน็ตที่เหมาะสมกับคนหูหนวกจึงมีคุณลักษณะและแนวทางการพัฒนาคือ 1. หากกลุ่มผู้ชมเป้าหมายเป็นคนหูหนวกและคนที่มีการได้ยินรายการควรมีทั้งเสียงพากย์และคำบรรยายแทนเสียง (Caption) 2. ควรมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคนหูหนวก สาระความรู้ที่คนหูหนวกมีสิทธิ์เข้าถึงและเรื่องราวในชีวิตประจำวันง่ายๆ 3. ต้องมีการกำหนดโครงสร้างและลำดับรายการให้ชัดเจนไม่สลับไปมา 4. ความยาวรายการประมาณ 30 นาที 5. ผู้ดำเนินรายการ ควรเป็นคนหูหนวกที่มีความสามารถทั้งการอ่านภาษาไทยและการสื่อสารด้วยภาษามือ 6. เทคนิคการนำเสนอเครื่องแต่งกายต้องมีสีพื้น สีเรียบ ไม่ฉูดฉาด ไม่มีลวดลายมาก เครื่องประดับ การแต่งหน้า ทำผม ต้องไม่รบกวนการสื่อสารด้วยภาษามือ การจัดแสงต้องไม่เกิดเงาที่เสื้อ ใบหน้าหรือฉากหลัง ไม่ควร เคลื่อนที่กล้องและตัดต่อเปลี่ยนภาพในระหว่างที่พิธีกรกำลังสื่อสารด้วยภาษามือ 7. ฉากรายการในสตูดิโอ ต้องมีสีพื้น สีเรียบ ไม่ฉูดฉาด ไม่มีลวดลายมากและอุปกรณ์ประกอบฉาก ต้องไม่บังภาษามือ 8. งานด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกต่างๆ บนหน้าจอต้องไม่บังภาษามือ และไม่นำเสนอภาพกราฟิกหรือ ภาพเคลื่อนไหวพร้อมกับการสื่อสารด้วยภาษามือ ทั้งนี้ในการวิจัยครั้งต่อไป ต้องมีการศึกษาคนหูหนวกในส่วนภูมิภาคและกระจายลักษณะทางประชากรศาสตร์ให้หลากหลายขึ้น และต้องมีการศึกษาผู้ชมที่มีการได้ยินร่วมด้วย เพื่อให้รายการที่ผลิตสามารถเข้าถึงทุกคนอย่างแท้จริง

References

จิตติมา บุญดีเจริญ. (2550). การพัฒนาแบบทดสอบและแบบสอบถามมัลติมีเดียภาษามือสำหรับคนหูหนวก (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). นครปฐม: มหาวิทยาลัยมหิดล

จิตประภา ศรีอ่อน. (2545). การศึกษาพฤติกรรมการใช้เวลาวันหยุดของคนหูหนวกในกรุงเทพมหานคร. นครปฐม: มหาวิทยาลัยมหิดล

ปริญญา สิริอัตตะกุล. (2555). ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพื่อการพึ่งพาตนเองของผู้พิการทางการได้ยิน : กรณีศึกษาจังหวัดชลบุรี (รายงานการวิจัย). นนทบุรี : สถาบัน สร้างเสริมสุขภาพคนพิการ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.

ผดุง อารยะวิญญู. (2539). การศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แว่นแก้ว.

พนิต เงางาม. (2541). การพึ่งพาข่าวสารทางสื่อสิ่งพิมพ์ของคนหูหนวก (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาวารสารสนเทศ). กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ภาสกร อินทุมาร. (2556). ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์สำหรับการขับเคลื่อนโครงการโทรทัศน์ภาษามือเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนหูหนวก (Thai Deaf TV) (รายงานผลการศึกษา). กรุงเทพฯ : คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.

วลัยลักษณ์ คงนิล. (2542). การรับรู้ การแปลความหมาย การจดจำ และอารมณ์จากการเปิดรับสื่อโทรทัศน์ของคนหูหนวก. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ศิวนารถ หงษ์ประยูร และชาญวิทย์ ทวีสิน. (2557). สรุปผลการดำเนินงานตามข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์มีบริการเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนพิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ. กรุงเทพฯ : คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

ศิวนารถ หงษ์ประยูร. (2556). การเข้าถึงสื่อของกลุ่มคนพิการ (รายงานสรุปผลการศึกษา). กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ.

สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร. (2555) รายงานการสำรวจความพิการ พ.ศ. 2555. สืบค้นวันที่ 26 ตุลาคม 2557 จาก http://service.nso.go.th/nso/web/survey/surpop2-5-4.html

หาญพล เจือเพ็ชร์. (2548). การออกแบบภาพเคลื่อนไหวเพื่อถ่ายทอดเสียงดนตรีสำหรับคนหูหนวก (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-07-09