การศึกษาศักยภาพและแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชนบ้านทุ่งมะปรัง อำเภอควนโดนและบ้านโตนปาหนัน อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล

ผู้แต่ง

  • ปาริฉัตร สิงห์ศักดิ์ตระกูล สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
  • พัชรินทร์ เสริมการดี สาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

คำสำคัญ:

ศักยภาพ, การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ความต้องการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชนบ้านทุ่งมะปรัง อำเภอควนโดน และบ้านโตนปาหนัน อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล โดยเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการและเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร การสังเกต การสอบถามและการสนทนากลุ่มย่อย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ ผู้นำและตัวแทนชุมชน หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดสตูล และทำการวิเคราะห์ ข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ โดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษาพบว่า แหล่งท่องเที่ยวของชุมชนบ้านทุ่งมะปรังและบ้านโตนปาหนันเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวโดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง สำหรับแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่คำนึงถึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และความต้องการของนักท่องเที่ยว แบ่งออกเป็น 3 ด้าน 1) ด้านแหล่งท่องเที่ยว ควรสร้างจุดเด่นของพื้นที่โดยนำธรรมชาติมาเสนอเป็นจุดขาย ปรับปรุงความสะอาดและภูมิทัศน์ให้สวยงามและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่นักท่องเที่ยวและชาวบ้าน 2) ด้านความพร้อมทางการท่องเที่ยวควรจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก จัดทำสื่อความหมายทางธรรมชาติและวัฒนธรรมและจัดเตรียมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นสำหรับการถ่ายทอดความรู้และเรื่องราวของแหล่งท่องเที่ยว และ 3) ด้านการพัฒนาการตลาด จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวของทั้งสองชุมชน เน้นกิจกรรมท่องเที่ยวที่มีการเรียนรู้และสร้างความเร้าใจสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน และจัดทำคู่มือ แผ่นพับ ใบปลิวและพัฒนาเว็บไซต์สำหรับประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว สำหรับข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งนี้ คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรมีแนวนโยบายในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีความยั่งยืนโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการระดมความคิดเพื่อการวางแผนและการดำเนินงาน ควรมีการสร้างเครือข่ายกับชุมชนที่มีการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และจัดให้มีกลไกที่สำคัญของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างชุมชนบ้านทุ่งมะปรังและชุมชนบ้านโตนปาหนัน

References

ฉลองศรี พิมลสมพงศ์. (2551). การวางแผนและพัฒนาตลาดการท่องเที่ยว.(พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

นิศา ชัชกุล. (2550). อุตสากรรมการท่องเที่ยว. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์.

ปาริชาติ วิสุทธิสมาจาร. (2551). การจัดทำต้นแบบการดำเนินธุรกิจแนวเศรษฐกิจพอเพียงของอุตสาหกรรมโรงแรมสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน : กรณีศึกษาจากบทเรียน “ชุมพรคาบาน่า รีสอร์ท”อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร สู่“เรือนศศิธร” อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

มนัส สุวรรณ. (2538). นิเวศวิทยากับการพัฒนาเศรษฐกิจ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

บุญเลิศ จิตตั้งวัฒนา. (2548). การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน. กรุงเทพฯ: บริษัท เพรส แอนด์ ดีไซน์ จำกัด.

วิภา ศรีระทุ. (2551). ศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์. สารนิพนธ์ วท.ม. กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-07-20