การสื่อสารเพื่อสร้างและธำรงรักษาอัตลักษณ์ของกลุ่มผู้นิยมแนวดนตรีฮาร์ดคอร์ในประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • พัทร์ศรัณย์ ตนานุประวัติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำสำคัญ:

การสื่อสาร, ดนตรีฮาร์ดคอร์, อัตลักษณ์, แฟน, วัฒนธรรมย่อย

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษากระบวนการก่อตัวและลักษณะของกลุ่ม ผู้นิยมแนวดนตรีฮาร์ดคอร์ในประเทศไทย การสื่อสารเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มผู้นิยมแนวดนตรีฮาร์ดคอร์ในประเทศไทย และบทบาทของเครือข่ายการสื่อสารในการธำรงรักษาอัตลักษณ์ของกลุ่มผู้นิยมแนวดนตรีฮาร์ดคอร์ในประเทศไทย ในฐานะของกลุ่มผู้รับสารแบบแฟนหรือรสนิยมทางวัฒนธรรม (fan group or taste culture) ภายใต้กรอบแนวคิดเรื่องการสื่อสาร อัตลักษณ์ วัฒนธรรมวัยรุ่น ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยการศึกษาข้อมูลจากเอกสาร การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม การสนทนาอย่างไม่เป็นทางการ และการเก็บแบบสำรวจ (120 ชุด) ประกอบการสัมภาษณ์เจาะลึก (62 คน)

ผลการวิจัยพบว่า กระบวนการก่อตัวของกลุ่มผู้นิยมแนวดนตรีฮาร์ดคอร์นั้นเริ่มจากการเป็นแฟนเพลงมีทั้งแบบแฟนเพียงลำพังและแบบกลุ่มเพื่อน ต่อมาแฟนเพลง ส่วนหนึ่งได้สลับบทบาทตัวเองให้กลายเป็นผู้ส่งสารด้วยการสร้างวงดนตรีฮาร์ดคอร์ของประเทศไทยขึ้น หลังจากนั้นวงดนตรีฮาร์ดคอร์ที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกันได้รวมกลุ่มกัน โดยลักษณะของกลุ่มนั้นจะเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นแบบไม่เป็นทางการคือเป็นเพื่อนกันมาก่อน และคนในวงจะเป็นเพื่อนกับอีกวง ภายหลังจากการได้เข้าร่วมงานคอนเสิร์ตดนตรีฮาร์ดคอร์ ได้รู้จักกับวงดนตรีฮาร์ดคอร์ต่างถิ่นและได้สานสัมพันธ์กัน จึงเกิดเป็นเครือข่ายสร้างวงดนตรีฮาร์ดคอร์ของประเทศไทย ประกอบกับการมีสื่อใหม่อย่างอินเตอร์เน็ทเข้ามามีส่วนอย่างมากในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรดนตรี ฮาร์ดคอร์ต่างถิ่นและต่างประเทศ ซึ่งช่วยในการสนับสนุนกันและกันตลอดมา

การสื่อสารเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มผู้นิยมแนวดนตรีฮาร์ดคอร์ในประเทศไทยนั้นเริ่มจากการซึมซับอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมดนตรีฮาร์ดคอร์จากต้นกำเนิด และนำมาสร้างอัตลักษณ์ของตนและกลุ่มตน โดยถ่ายทอดออกมาผ่าน 6 ด้านคือ การแต่งกาย ของสะสม ดนตรี วิถีปฏิบัติรูปแบบการดำเนินชีวิตและภาษา โดยกลุ่มผู้นิยมแนวดนตรีฮาร์ดคอร์แต่ละกลุ่มนั้นจะมีอัตลักษณ์ด้านการแต่งกายและเนื้อเพลงและรูปแบบดนตรีที่แตกต่างกันไป แต่โดยภาพรวมแล้วแนวคิดและอุดมการณ์ต่างๆยังคงอยู่ในกรอบแนวคิดเดียวกัน และที่สำคัญยังมีการนิยามความหมายของการเป็นแฟนเพลงผ่านทางการสร้างจิตสำนึกในอัตลักษณ์ร่วมโดยการลบเส้นแบ่งระหว่างความเป็นศิลปินกับแฟนเพลงออก โดยใช้คำที่แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างคำว่าครอบครัว พี่น้อง เพื่อนพ้อง เป็นต้น

การสื่อสารเพื่อการธำรงรักษาอัตลักษณ์ของกลุ่มผู้นิยมแนวดนตรีฮาร์ดคอร์ใน ประเทศไทยนั้นได้บูรณาการรูปแบบการสื่อสารที่หลากหลายและเป็นเครือข่ายการสื่อสารแบบทุกช่องทาง ซึ่งเปิดให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งพื้นที่ในการสร้างแสดงและสืบทอดอัตลักษณ์ที่สำคัญคือ งานคอนเสิร์ตซึ่งเป็นพื้นที่ที่เปิดให้กลุ่มผู้นิยม แนวดนตรีฮาร์ดคอร์รุ่นใหม่และรุ่นเก่ามีปฏิสัมพันธ์กันก่อให้เกิดซึมซับและถ่ายทอดอัตลักษณ์

ทั้งนี้ในขั้นตอนของการธำรงรักษาอัตลักษณ์นั้นยังประกอบไปด้วยการสร้างอัตลักษณ์ทั้งสมาชิกกลุ่มเดิม และสมาชิกใหม่เพื่อเป็นการหมุนเวียนสมาชิกให้กลุ่มยังคงอยู่ได้ นอกจากนี้อัตลักษณ์ยังมีความเลื่อนไหลและต้องปรับตัวตลอดเวลาเพื่อ ความอยู่รอด จึงต้องมีการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ที่ยังคงอัตลักษณ์เดิมเสมอ ซึ่งจะ เป็นการตอกย้ำอัตลักษณ์เพื่อยืนยันอัตลักษณ์ของตนและเป็นการธำรงรักษาอัตลักษณ์ของกลุ่มผู้นิยมแนวดนตรีฮาร์ดคอร์ให้ยังคงอยู่ต่อไป

References

กาญจนา แก้วเทพ และคณะ. (2544) ศาสตร์แห่งสื่อและวัฒนธรรมศึกษา กรุงเทพฯ : เอดิสันเพรสโปรดักส์

กาญจนา แก้วเทพ และคณะ (2549) ใต้ฟากฟ้าแห่งการศึกษาสื่อบุคคลและเครือข่ายการสื่อสาร กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว)

ขนิษฐา อุดมวิทยาไกร (2550) กระบวนการสื่อสารทางวัฒนธรรมของกลุ่มวัยรุ่นฮิพฮอพในสังคมไทย วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาสื่อสารมวลชน กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

จิรเวทย์ รักชาติ (2549) การวิเคราะห์อุดมการณ์ในเพลงสากลแนวเฮฟวี่เมทัลของวัยรุ่น. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาสื่อสารมวลชน กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ชลวรรณ วงษ์อินทร์ (2548) ชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มแฟนเพลงเฮฟวี่เมทัลในประเทศไทย วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาการสื่อสารมวลชน กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ลำเนา เอี่ยมสอาด (2539) การวิเคราะห์เพลงไทยสมัยนิยมแนวร็อค วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาการสื่อสารมวลชน กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สุปรีดา ช่อลำไย (2549) เครือข่ายการสื่อสารและการดำรงอยู่ของแฟนคลับ ธงไชย แมคอินไตย์ วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาสื่อสารมวลชน กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สุรีย์รัตน์ โกสุมศุภมาลา (2550) บทบาทการสื่อสารต่อการธำรงรักษาเครือข่ายแฟนคลับของ วงโมเดิร์นด็อก วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตรพัฒนาการ กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อภิรัตน์ รัตนไพบูลย์(2547, พฤศจิกายน). “History Of Rock”. Music Express 19, 228. หน้า 27–33.

Steven Blush (2001) American Hardcore A Tribal History California : Feral House Susan Willis (1993, Winter). Hardcore: Subculture American Style. Critical Inquiry, pp.365-383.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-08-11