การสร้างโปรแกรมการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ถังแดงอย่างมีส่วนร่วม

ผู้แต่ง

  • สุริยันต์ สุวรรณราช สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน สังกัดศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

คำสำคัญ:

การสร้างโปรแกรมการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วม, การท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้, ประวัติศาสตร์ถังแดง

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องการสร้างโปรแกรมการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ถังแดงอย่างมีส่วนร่วมนั้น มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือการยกระดับการเรียนรู้จากองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ถังแดงที่ชุมชนได้วิจัยไว้ให้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น ในลักษณะของการสร้างเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดใกล้เคียงคือ จังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล สงขลาและนครศรีธรรมราช โดยเน้นไปที่พฤติกรรมในการรับรู้ข้อมูลของนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ถังแดง การสังเคราะห์องค์ความรู้ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นกรณีถังแดง การสร้างรูปแบบการสื่อความหมายและการสร้างโปรแกรมการท่องเที่ยวสำเร็จรูป โดยกระบวนการมีส่วน ร่วมของชุมชนให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย

สำหรับระเบียบวิธีการศึกษาได้ใช้ทั้งแบบสอบถามที่เป็นกลุ่มเป้าหมายคือ ปลัดอำเภอทั้ง 5 จังหวัดตามที่กล่าวมาข้างต้น ด้วยการสุ่มตัวอย่างอย่างง่ายไปยังพื้นที่เหล่านั้น จำนวน 70 ตัวอย่างกับการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มประชาชนในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ถังแดงทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจำนวน 12 คน แล้วนำองค์ความรู้ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ไปร่วมประชุมกับชุมชน เพื่อสร้างเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวสำเร็จรูปให้น่าสนใจ และจัดให้มีการทดลองการท่องเที่ยวจริงของกลุ่มเป้าหมายเป็นเวลา 2 วัน 1 คืน

ผลจากการศึกษาพบว่าองค์ความรู้และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ถังแดงนั้น เป็นปรากฏการณ์ของความรุนแรงในการใช้กำลังอาวุธเข้าแก้ปัญหาความแตกต่างทางความคิดระหว่างประชาชนกับประชาชน โดยฝ่ายหนึ่งมีภาครัฐกระทำการในฐานะผู้ปกป้อง เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่ารัฐมีความมั่นคง อีกฝ่ายหนึ่งมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกระทำการในฐานะกลุ่มประชาชน ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ด้วยเหตุนี้เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดระแวงประชาชนคนหนึ่งคนใดว่าเป็นพวก หรือให้การสนับสนุนฝ่ายตรงกันข้ามก็จะมีวิธีการปราบปรามอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเผาลงถังแดง โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ดังนั้นเหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นความเจ็บปวดของประชาชนทั้งสองฝ่ายและไม่สามารถหาหลักฐานอื่นใดที่จะนำมาแสดงให้คนรุ่นหลัง หรือนักท่องเที่ยวได้ชมอย่างชัดเจน ยกเว้นร่องรอยของเหตุการณ์ที่เป็นที่ตั้งของค่ายทหาร อันเป็นจุดเริ่มของการเกิดเหตุการณ์ถังแดงกับอนุสรณ์สถานที่บรรดาญาติพี่-น้อง ของผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างขึ้น เพื่อเก็บกระดูกและร่วมทำบุญรำลึกเป็นประจำทุกปี

อย่างไรก็ตาม คณะวิจัยได้ดำเนินการประชุมประชาชนบนเส้นทางที่เกิดเหตุการณ์ถังแดง แล้วเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ สร้างเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวขึ้นมา 3 โปรแกรม เพื่อจัดให้มีการทดลองการท่องเที่ยวตามโปรแกรม 2 วัน 1 คืน จนได้ข้อสรุปว่ากลุ่มเป้าหมายมีความเชื่อมั่นมากว่าโปรแกรมการท่องเที่ยวเหล่านั้น สามารถเผยแพร่ไปยังกลุ่มที่จัดนำเที่ยวหรือบริษัทนำเที่ยว เพื่อชักชวนผู้สนใจที่จะท่องเที่ยวแบบหลากหลายมิติได้อย่างยั่งยืน โดยประชาชนในแต่ละชุมชนจะให้บริการนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพตามผลสรุปของการประเมินการทดลองท่องเที่ยวแล้ว

เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการวิจัยต่อไปในพื้นที่ของจังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียง ควรจัดสร้างเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวที่มีการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวแบบหลากหลายมิติเข้าด้วยกัน ให้เกิดความน่าสนใจเพลิดเพลินอย่างแท้จริง แล้วจะเป็นการประหยัดต้นทุนของการจัดท่องเที่ยวอีกด้วย

References

นิศา ชัชกุล. 2550. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อภิญญา เลื่อนฉวี. 2548. การประชุมวิชาการและการจัดการ. “การศึกษามาตรการทางกฎหมายในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอุทยานแห่งชาติ”. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

สมยศ เพชราและคณะ. 2549. กรณีถังแดง : การศึกษาเพื่อความเข้าใจข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นร่วมกัน. พัทลุง : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-08-18