เนื่องด้วยคณะรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์จะมีอายุครบ 75 ปีใน พ.ศ. 2567 ที่จะถึงนี้ บทบรรณาธิการฉบับนี้จึงขอใช้เป็นพื้นที่เล่าที่มาที่ไปของ “รัฐศาสตร์นิเทศ” (Political Science Review) ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นวารสารที่เกิดขึ้นมาก่อน “รัฐศาสตร์สาร” เสียอีก คำถามชวนคิดคือ เพราะเหตุใดในอดีตที่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการสร้างวารสารถึงสองหัวด้วยกัน
หากพิจารณาบทบรรณาธิการรัฐศาสตร์นิเทศ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2558 ผู้อ่านก็จะพบว่าทางกองบรรณาธิการในยุคนั้นได้ไปถามอาจารย์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เรื่องการตั้งชื่อ ซึ่งทางอาจารย์แนะนำว่าให้ใช้ชื่อเรียกปัจจุบันแทนที่จะเป็นชื่อ “รัฐศาสตร์ปริทัศน์” ส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นการรื้อฟื้นของเก่าของคณะรัฐศาสตร์ที่เคยมีมาแต่เดิม
อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปพิจารณารัฐศาสตร์นิเทศยุคเก่า โดยเฉพาะฉบับปฐมฤกษ์ในเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2505 ผู้อ่านจะเห็นความแตกต่างสองประการ ประการแรก ชื่อภาษาอังกฤษเดิมของรัฐศาสตร์นิเทศยุคเก่าคือ “Political Science Bulletin” ไม่ใช่ “Political Science Review” อย่างปัจจุบัน ประการที่สอง จุดประสงค์เดิมของรัฐศาสตร์นิเทศยุคเก่าไม่เหมือนกับยุคปัจจุบัน กล่าวคือ ของยุคเดิมนั้นมีไว้คล้ายกับเป็นช่องทางการสื่อสารภายในคณะรัฐศาสตร์เอง ซึ่งเน้นไปที่การเผยแพร่วิทยาการของคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์บ้าง ซึ่งบทความหลายชิ้นเป็นบทความกึ่งวิชาการไม่ได้เป็นบทความวิชาการหรือบทความวิจัยตามความเข้าใจของยุคปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้น รัฐศาสตร์นิเทศยุคเก่ายังเป็นคล้ายกับสื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของคณะรัฐศาสตร์ที่เชื่อมระหว่างศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอีกเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ใน รัฐศาสตร์นิเทศ ฉบับ มิถุนายน พ.ศ. 2506 ในส่วนของ “สโมสรรัฐศาสตร์” ได้เล่าข่าวภายในของคณะเอาไว้ว่า “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ชัช กิจธรรม ชวน ณรงค์ สินสวัสดิ์ ขึ้นไปหา สมโภชน์ ศรีประไหม ถึงหนองคาย แล้วก็กวนใจผู้ว่าราชการจังหวัด เจริญ ปานทอง ขอให้ได้ข้ามฟากไปเมืองลาวสักหน่อย”
แม้ว่าต่อมาไม่นานวารสารรัฐศาสตร์นิเทศจะเริ่มมีความเป็นวิชาการมากยิ่งขึ้น อาทิ มีบทความที่มีการอิงหลักวิชารัฐศาสตร์อีกทั้งมีการตีพิมพ์บทความภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้น อันสอดคล้องกับกระแสการเข้ามาในไทยของรัฐศาสตร์สมัยใหม่ (modern political science) ตามแบบฉบับอเมริกันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ยิ่งโดยเฉพาะการก่อตั้งสาขา “รัฐศาสตร์ศึกษา” ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งสาขาที่ว่าเป็นสาขาที่เต็มไปด้วยวิชารัฐศาสตร์อันละม้ายคล้ายกับวิชาเรียนในปัจจุบัน
แต่ก็เกิดเหตุไม่พึงพอใจขึ้นในคณะรัฐศาสตร์บางประการโดยเฉพาะเมื่อวารสารรัฐศาสตร์นิเทศยุคเก่าได้ถูกโอนย้ายการดูแลกำกับจากคณะรัฐศาสตร์ให้มาอยู่ภายใต้การจัดการของ “สมาคมรัฐศาสตร์” ดังที่ถูกชี้แจงไว้ในฉบับเดือน มกราคม พ.ศ. 2513 โดยเหตุผลที่ทางสมาคมรัฐศาสตร์แถลงไว้ก็เนื่องมาจากการ “เปลี่ยนแปลงเป้าหมายในการจัดทำหนังสือให้สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกสมาคมรัฐศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ ผู้เคยเป็นนักศึกษาของคณะรัฐศาสตร์ และสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่สมาคมเชิญมาเป็นสมาชิก” อาจกล่าวได้ว่า วารสารรัฐศาสตร์นิเทศยุคเก่ายังคงต้องการธำรงไว้ซึ่งสถานภาพของการเป็นจุดเชื่อมร้อยระหว่างชาวสิงห์แดงทั้งเก่าและใหม่โดยไม่ประสงค์จะหันเหไปยังความเป็นวิชาการเต็มร้อย
การเปลี่ยนแปลงดังที่ว่านั้นเองย่อมนำไปสู่ความเห็นที่ไม่ลงรอยกันของคนในประชาคมรัฐศาสตร์ อันเป็นเหตุให้เกิดการสร้างวารสารรัฐศาสตร์สารขึ้นมาใน พ.ศ. 2515 ดังที่บทบรรณาธิการฉบับปฐมฤกษ์ของรัฐศาสตร์สารได้ระบุไว้ว่า
“อนึ่ง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เราขอแถลงข้อข้องใจบางประการว่าตามที่มีผู้เข้าใจว่าเราออกวารสารรัฐศาสตร์สารก็เพราะเกิดมีเรื่องยุ่ง ๆ ในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีผู้เข้าใจว่าเราออกวารสารฉบับนี้มาแข่งกับวารสารฉบับหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นของคณะรัฐศาสตร์...ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังคาดเคลื่อนอยู่มาก เราออกวารสารฉบับนี้ไม่ได้มีเจตนาจะแข่งกับใครทั้งนั้น ถ้าจะแข่งก็แข่งในด้านวิชาการและแข่งในด้านส่งเสริมอาชีพทางวิชาการของอาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิที่สนใจ ซึ่งการแข่งขันแบบนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย...อีกประการหนึ่ง ตามที่มีผู้เข้าใจผิดว่าวารสารฉบับเดียวกันนั้น ซึ่งเคยเป็นของคณะรัฐศาสตร์ และต่อมาถูกโอนไปเป็นของสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยเหตุผลว่ามีปัญหาทางการเงิน ความจริงมิใช่เป็นเช่นนั้นแต่อย่างใดเลย แต่ถูกโอนไปด้วยเหตุผลอย่างอื่นมากกว่า”
แม้ถ้อยแถลงในบทบรรณาธิการของรัฐศาสตร์สารฉบับปฐมฤกษ์จะระบุว่าไม่มีความขัดแย้งใด แต่น้ำเสียงของรูปประโยคดูจะสะท้อนความขัดแย้งบางประการอย่างเด่นชัด ยิ่งหากพิจารณาเนื้อหาบทความของรัฐศาสตร์สารฉบับปฐมฤกษ์ก็จะเห็นข้อถกเถียงที่น่าสนใจในการศึกษารัฐศาสตร์ระหว่าง ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ กับ ดร.สุจิต บุญบงการ ซึ่งทั้งสองฝ่ายโต้แย้งกันว่ารัฐศาสตร์ควรศึกษาผ่านปรัชญาการเมืองหรือยอมโอนอ่อนต่อกระแสพฤติกรรมนิยมกันแน่ แต่ไม่ว่าทั้งสมบัติหรือสุจิตจะสนทนากันแบบใดแต่หัวใจสำคัญประการหนึ่งของรัฐศาสตร์สารฉบับปฐมฤกษ์นั้นคือจุดร่วมของผู้เขียนและผู้ก่อตั้งที่ว่าการศึกษาการเมืองนั้นสามารถศึกษาให้มีลักษณะเป็น “ศาสตร์” อันเป็นหลักวิชาได้ไม่ใช่เพียงแค่ท่องจำข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียว
ภายหลังจากที่รัฐศาสตร์สารได้คลอดออกมาอย่างเป็นทางการ รัฐศาสตร์นิเทศก็ได้เปลี่ยนแปลงเน้นหนักไปที่ความเป็นวิชาการมากยิ่งขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน โดยที่ไม่มีลักษณะของการเป็นหนังสือส่งข่าวระหว่างสิงห์แดงด้วยกันอีกต่อไปไม่เหมือนในช่วงแรกของการก่อตั้งวารสาร และเท่าที่ค้นพบ รัฐศาสตร์นิเทศได้ตีพิมพ์สุดท้ายใน พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายก่อนที่จะถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง คำถามชวนคิดคือ อะไรคือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกันแน่ในช่วงเวลาดังกล่าวกันแน่
เผยแพร่แล้ว: 06-12-2023