อาสาสมัคร กับ การสร้างความเป็นธรรมในสังคม
คำสำคัญ:
อาสาสมัคร, การสร้างความเป็นธรรมในสังคมบทคัดย่อ
ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ได้ริเริ่ม “สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2512
อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ บุตรชายคนโตของอาจารย์ป๋วย เป็นผู้อำนวยการคนแรกของ “โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม” ซึ่งก่อตั้งในปี 2523 ทั้งสองโครงการ เกิดขึ้นในยุคสมัยที่ต่างกัน สถานะ และกระบวนการทำงานไม่เหมือนกัน แต่มีจุดร่วมสำคัญคือ การสร้างโอกาสให้คนหนุ่มสาว ได้เป็นอาสาสมัคร เรียนรู้และปฏิบัติการเพื่อสังคม และ คุณลักษณะสำคัญยิ่งที่เหมือนกันทั้งของอาจารย์ป๋วย และ อาจารย์จอน คือเกลียดความไม่เป็นธรรม ท่านทั้งสองจึงประกาศตน และยืนเคียงข้างความเป็นธรรมเสมอมา
ด้วยเหตุนี้กระมัง ท่านจึงอยากให้คนหนุ่มสาวได้เรียนรู้ชีวิต ความทุกข์ ของคนยากจน คนด้อยโอกาส เด็ก ผู้หญิง ที่ถูกใช้แรงงานหนักหรือตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ปัญหาของชาวนา เกษตรกรในชนบทที่มีหนี้สิน ขายผลผลิตไม่ได้ราคา รายได้ไม่ชนรายจ่าย ไม่มีที่ดิน ปัญหาของชุมชนชาวสลัม ที่หาเช้ากินค่ำ อยู่อย่างแออัด ไม่มีสุขอนามัยที่ดี ฯลฯ เมื่อเห็นปัญหา เมื่อมีข้อมูล สู่การวิเคราะห์ ไปถึงสาเหตุของปัญหา คนจนทำไมถึงจน เป็นเพราะตัวเขาขี้เกียจ ไม่มีการศึกษา หรือเพราะอะไร เมื่อมองลึกลงไปสู่รากแห่งปัญหา จะเห็นปัจจัยอื่นๆที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เห็นคนได้เปรียบ คนเสียเปรียบ เห็นโครงสร้างบางอย่างที่ไม่เป็นธรรม เมื่อเห็น รู้สึก และเข้าใจเอง ก็จะเกิดวิธีคิด เกิดสำนึกบางอย่าง ที่จะตัดสินใจเองว่าบทบาท และทางเดินต่อไป ในฐานะพลเมืองของสังคมจะเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา มีส่วนสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้อย่างไร กระบวนการเหล่านี้คือกระบวนการเรียนรู้ที่จะสร้างพลเมืองที่เข้มแข็งให้กับสังคม...