โรงเรียนผู้สูงอายุกับการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุในชุมชนท้องถิ่นอีสาน
คำสำคัญ:
ผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ ชุมชนท้องถิ่นบทคัดย่อ
บทความชิ้นนี้นำเสนอแนวทางการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุในชุมชนท้องถิ่นผ่านการถอดบทเรียนจากกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุและจาก “โครงการบริการวิชาการการสร้างสังคมสูงวัยคุณภาพ” ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยใช้กรณีศึกษาการพัฒนาโรงเรียนผู้สูงอายุในสามตำบลคือ ตำบลเมืองศรีไค ตำบลโพธิ์ใหญ่ และตำบลคำขวาง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พบว่า โรงเรียนผู้สูงอายุมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนท้องถิ่น ทั้งเป็นแหล่งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นพื้นที่ของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ส่งเสริมคุณค่าในตัวเองให้กับผู้สูงอายุและเป็นพื้นที่สุขภาวะ โดยมีการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การฝึกทักษะอาชีพ การใช้เทคโนโลยี การทำกิจกรรมนันทนาการ รวมถึงการหาความรู้ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ชมรมผู้สูงอายุซึ่งทำหน้าที่ประสานงานในการดำเนินงานโรงเรียนผู้สูงอายุ มีข้อจำกัดในเรื่องของการทำงานเชิงระบบ เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีทักษะในการดำเนินโครงการ สำหรับแนวทางการจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ มีดังนี้ 1) ควรทำงานเชิงบูรณาการเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่ยั่งยืน 2) ควรสร้างการมีส่วนร่วมและการคำนึงถึงความต้องการของผู้สูงอายุเพื่อสร้างกิจกรรมที่เหมาะสม 3) ควรสร้างกลไกการสื่อสารกับผู้สูงอายุ 4) ควรมีการส่งเสริมกิจกรรมที่หลากหลาย 5) ควรส่งเสริมกิจกรรมนันทนาการที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และเกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในชุมชน และ 6) ควรส่งเสริมกิจกรรมจิตอาสาเพื่อให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในโรงเรียนผู้สูงอายุ ทั้งนี้ หน่วยงานในระดับท้องถิ่นควรจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดจัดการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ
คำสำคัญ: ผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ ชุมชนท้องถิ่น