คนไทยและการก่อตัวเป็นชุมชนไทยในเอเชีย
คำสำคัญ:
การเคลื่อนย้ายประชากรไทยข้ามชาติไปยังประเทศเอเซีย, คนไทยนอกประเทศไทย, ชุมชนไทยนอกประเทศไทย, การก่อตัวเป็นชุมชน, การก่อตัวเป็นสังคมบทคัดย่อ
บทความนี้ เป็นความพยายามที่จะอภิปรายถึงกระบวนการก่อตัวเป็นชุมชนไทย ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนามไต้หวัน และญี่ปุ่น โดยใช้ข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคนไทยและการก่อตัวเป็นชุมชนไทยในประเทศดังกล่าว ในการพิจารณาไม่ได้มองว่ามีชุมชนอยู่ในประเทศนั้น ๆ แล้ว แล้วเข้าไปศึกษา แต่พิจารณาตามแนวคิดว่าด้วย “การก่อตัวเป็นสังคม” (Vergesellschaftung) ของ Simmel (1908) ว่า จากการที่มีคนไทยย้ายถิ่นเข้าไปทำงาน หรือพำนักอยู่ จะก่อให้เกิดอะไร เกิดสังคม หรือชุมชนขึ้นหรือไม่บทความเริ่มด้วยการบรรยายถึงการเคลื่อนย้ายประชากรไทยมายังประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น และชี้ให้เห็นว่า คนไทยในต่างแดนส่วนใหญ่จะประกอบด้วย แรงงาน (ผู้เชี่ยวชาญ มีฝีมือ กึ่งและไร้ฝีมือ) คู่สมรส และนักเรียนนักศึกษา เมื่อเวลาผ่านไปและเมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อ คนไทยย้ายถิ่นจะกลายเป็นผู้ตั้งรกรากในประเทศปลายทาง คนไทยเหล่านี้ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว หากแต่ติดต่อมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนที่ย้ายถิ่นด้วยกัน ทั้งภายในกลุ่มตนเอง และข้ามกลุ่ม แสดงให้เห็นสังคมย่อย ๆ ของแต่ละกลุ่ม และสังคมวงกว้าง รวมทั้งเครือข่ายคนไทย และอาจมองได้ว่ามีชุมชนไทยซึ่งก็คือการที่คนไทยมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมบนที่ทางที่อำนวยให้ในอาณาบริเวณของประเทศปลายทาง