การใช้แนวคิดวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองโดยองค์กรภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการวิจัยอย่างมีส่วนร่วม : กรณีศึกษาเครือข่ายภาคประชาชน จังหวัดระยอง

ผู้แต่ง

  • อัฏฐพร ฤทธิชาติ

บทคัดย่อ

งานศึกษาเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและแนวทางการใช้แนวคิดวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองโดยองค์กรภาคประชาชนและศึกษาองค์กรภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมในจังหวัดระยอง ผลการศึกษาพบว่าความเดือดร้อนที่เครือข่ายต้องเผชิญ ประกอบด้วย ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ, ช่องว่างทางกฎหมาย, หน่วยงานรัฐละเลยปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น, การขาดกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบาย และสาธารณะไม่ทราบสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ สภาพปัญหาดังกล่าวได้นำมาสู่การใช้แนวคิดวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง ซึ่งให้ความสำคัญกับการศึกษารวบรวมข้อมูลและการติดตามผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน เพื่อให้ได้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยเพิ่มน้ำหนักแก่การขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของชุมชนทำให้เป็นที่สนใจของสาธารณะ และเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้เกิดการเจรจาที่สร้างสรรค์

ทั้งนี้ การใช้แนวคิดวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองโดยองค์กรภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมมี 2 รูปแบบ คือ (1) การจัดทำข้อมูลเพื่อแสดงความเห็นคัดค้านก่อนการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม และ (2) การตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ได้รับปัญหามลพิษอุตสาหกรรม โดยมีแนวทางการดำเนินงานจำนวน 5 ขั้นตอน คือ การประสานความร่วมมือกับนักวิชาการ, การพัฒนาเครื่องมือหรือวิธีการในการเก็บข้อมูลให้เป็นที่ยอมรับ, การพัฒนาศักยภาพองค์กรและเครือข่ายภาคประชาชน, การศึกษาและรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ, และการใช้ข้อมูลเพื่อสื่อสารต่อสาธารณะให้เกิดการแก้ปัญหาและขับเคลื่อนกฎหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

 

คำสำคัญ: วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง, การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม, เครือข่ายภาคประชาชน จังหวัดระยอง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-30