พัฒนาการเกษตรกรรมของประเทศไทย: ในมิติด้านการพัฒนาชุมชน และคุณภาพชีวิต
บทคัดย่อ
ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมมาช้านาน เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประกอบอาชีพทางการเกษตรหรือเกี่ยวข้องมาโดยตลอด แม้ว่าจะพยายามพัฒนาไปสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมเพียงใดก็ตาม แต่ก็ยังคงพึ่งพาอาศัยเกษตรกรรมอยู่เช่นเดียวกับประเทศที่ได้พัฒนาไปแล้วทั้งหลาย ซึ่งวิวัฒนาการและพัฒนาการเกษตรของไทยได้เปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัยและตามกระแสการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลกมาตามลำดับ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอและอธิบายในเรื่องที่ว่าด้วยพัฒนาการเกษตรกรรมของประเทศไทยในมิติด้านการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต โดยประเทศไทยนั้นได้มีพัฒนาการด้านการเกษตรเป็นระยะเวลายาวนาน เริ่มตั้งแต่ยุคแรกของการเริ่มทำการเกษตรที่เรียกว่า “การเกษตรแบบดั้งเดิม” และได้พัฒนามาเป็นการทำ “เกษตรกรรมร่วมสมัย” จนกระทั่งรูปแบบของภาคเกษตรกรรมได้พัฒนามามาถึงจุดที่เรียกว่า “การเกษตรแบบยั่งยืน” ในปัจจุบัน ซึ่งพบว่าการทำการเกษตรแบบยั่งยืนในปัจจุบันนั้น มีรูปแบบที่แตกต่างกันอีกมากมาย ซึ่งการพัฒนาการของเกษตรในทุกช่วงระยะเวลาล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและชุมชนนั้น ๆ นอกจากนี้ในบทความยังได้กล่าวถึงชุมชนตัวอย่างในประเทศไทยที่ได้มีการพัฒนารูปแบบของเกษตรกรรมเพื่อการพัฒนา โดยใช้การเกษตรแบบยั่งยืนไปประยุกต์ใช้ในชุมชน โดยการทำการเกษตรดั่งกล่าวได้ช่วยก่อให้เกิดการพัฒนาในชุมชนและคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดการพึ่งพาตนเองของเกษตรกรและคนในชุมชนได้อย่างเป็นเชิงประจักษ์