การจัดการความรู้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่ท่องเที่ยวสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

ผู้แต่ง

  • ธีรภัท ชัยพิพัฒน์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ เพื่อศึกษาองค์ความรู้ในการจัดการด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ในพื้นที่ท่องเที่ยวสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ปัญหาของการวิจัยคือ  1) เนื้อหาที่เชื่อมโยงความรู้เกี่ยวกับการนำความรู้มาจัดการความรู้ด้านการท่องเทียวเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนบ้านสบรวก ในพื้นที่ท่องเที่ยวสามเหลี่ยมทองคำ มีวิธีดำเนินการอย่างไร และ 2) เนื้อหาที่เชื่อมโยงของความรู้เกี่ยวกับศักยภาพในการใช้องค์ความรู้บ้านสบรวกในพื้นที่ท่องเที่ยวสามเหลี่ยมทองคำมีรูปแบบการจัดการความรู้ในลักษณะอย่างไร ประชากรที่ใช้ในการวิจัยเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จำนวน 30 ราย มีผู้ให้ข้อมูลหลักคือ 1) ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว จำนวน 3 ราย 2) คนพื้นที่ในชุมชนบ้านสบรวก จำนวน 15 ราย 3) หน่วยงานภาครัฐ จำนวน 2 ราย และ 4) นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จำนวน 10 ราย ผู้วิจัยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ วิธีดำเนินการวิจัยคือ ศึกษาศักยภาพของชุมชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชนกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ประมวลองค์ความรู้ ข้อมูลที่ได้จากกระบวนการต่างๆ ในการจัดการความรู้ และได้องค์ความรู้ใหม่ในรูปแบบของการจัดการความรู้ในพื้นที่ทำการวิจัย      ผลการวิจัยพบว่า องค์ความรู้ในการจัดการด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนบ้านสบรวกกล่าวคือ องค์ความรู้ที่ประยุกต์ใช้สามารถนำมาใช้ในการจัดการความรู้การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของพื้นที่ท่องเที่ยวสามเหลี่ยมทองคำได้เป็นอย่างดี โดยองค์ความรู้นั้นสามารถจำแนกความรู้ได้เป็น 4 ด้าน คือ 1) องค์ความรู้ด้านทรัพยากรการท่องเที่ยวประเภททรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น แม่น้ำโขง ดอยสะโง้ และทรัพยากรทางด้านวัตถุ เช่น โบราณสถาน วัด และพิพิธภัณฑ์ 2) องค์ความรู้ด้านบทบาทของบ้านสบรวกต่อการจัดการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ 3) องค์ความรู้ด้านผลลัพธ์จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ 4) องค์ความรู้ด้านรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนี้เป็นกลุ่มที่มีการมีการนำองค์ความรู้มาใช้เพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ท่องเที่ยวสามเหลี่ยมทองคำ ส่วนศักยภาพของการใช้องค์ความรู้ในการจัดการด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่ท่องเที่ยวสามเหลี่ยมทองคำพบว่า มีกระบวนการสำคัญคือกิจกรรมสร้างสรรค์ที่มาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะบ้านสบรวกกับนักท่องเที่ยว ศักยภาพของการใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการสังเคราะห์มีลักษณะเป็นพลวัต กิจกรรมสร้างสรรค์นำสู่การผสมผสานขององค์ความรู้ เกิดเป็นศักยภาพของการใช้องค์ความรู้ชุดใหม่ที่เป็นหัวใจในการนำความรู้ไปใช้ และเป็นพลังของบ้านสบรวกในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่ท่องเที่ยวสามเหลี่ยมทองคำในเบื้องต้นได้                                                  

คำสำคัญ: การจัดการความรู้, การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-12-30