บทบรรณาธิการ

ผู้แต่ง

  • ธิดารัตน์ ศักดิ์วีระกุล วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทคัดย่อ

“วารสารพัฒนศาสตร์” วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม – ธันวาคม 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ แลกเปลี่ยนแนวคิด ความรู้ ความก้าวหน้าใหม่ในลักษณะสหสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์ โดยเปิดรับบทความวิชาการ บทความวิจัย และผลงานวิชาการลักษณะอื่นๆ ที่ครอบคลุมประเด็นศึกษาทั้งในมิติทางวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ สังคม การบริหารจัดการทรัพยากรทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น การศึกษาการพัฒนาเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนามนุษย์และสังคมในระดับชุมชนท้องถิ่นที่ไม่ได้เจาะจงอยู่เฉพาะท้องถิ่นชนบทแต่ยังขยายไปถึงความเป็นชนบทในเมืองและความเป็นเมืองที่มีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชนบท บทความทุกเรื่องที่ตีพิมพ์ในวารสารพัฒนศาสตร์นั้นได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 ท่านต่อหนึ่งเรื่อง เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้อ่านผลงานที่ผ่านการรับรองแล้วว่ามีความคุณค่าทางวิชาการสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างสรรค์ต่อยอดความรู้ใหม่ต่อไป

            วารสารพัฒนศาสตร์ฉบับนี้ นำเสนอบทความวิจัยและบทความวิชาการ รวม 5 เรื่อง ในเนื้อหาของแต่ละบทความได้เสนอแนวคิดองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลของผู้เขียนในมิติที่หลากหลายเกี่ยวข้องกับนโยบายและการบริหารจัดการของภาครัฐที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคมทั้งในเชิงเศรษฐกิจ วิถีชีวิตการประกอบอาชีพ การศึกษา การจัดการภาคีสาธารณะ และการวิเคราะห์นโยบายสวัสดิการสังคม

            บทความวิจัยเรื่อง “นวัตกรรมชุมชนกับการแก้ปัญหานี้ครัวเรือนในภาคชนบทไทย” ของ สุนทร คุณชัยมัง วีรบูรณ์ วิสารทสกุล และอารีย์ คงแจ่ม นำเสนอผลการศึกษาแนวทางและปัจจัยความสำเร็จในการจัดการหนี้ครัวเรือนในภาคชนบทที่พึ่งพารายได้จากการประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก  ผ่านการศึกษาข้อมูลจากต้นแบบที่ประสบความสำเร็จไปสู่ข้อเสนอของการเป็นนวัตกรรมชุมชนสำหรับแก้ปัญหาความยากจนและการสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ขับเคลื่อนจากความสามารถของชุมชนฐานราก

            บทความวิจัยเรื่องต่อมาเป็นการนำเสนอผลการศึกษาเครือข่ายธรรมาภิบาลการศึกษาเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดระยอง เรื่อง “พลวัตรของเครือข่ายธรรมาภิบาลการศึกษาเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยในท้องถิ่นจังหวัดระยอง: นัยยะเชิงนโยบาย” โดย พฤกษพงศ์ วิสุทธิ์ดวงดุษดี และพลอย สืบวิเศษ ซึ่งแสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านของการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 ช่วงเวลา โดยมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงเรียนที่มีการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำหน้าที่ในการนำนโยบายและมาตรฐานการพัฒนาเด็กปฐมวัยไปปฏิบัติ

            เรื่องที่สามเป็นบทความวิจัยที่เสนอการวิเคราะห์บทบาทของนโยบายรัฐและทุนกับการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารท้องถิ่น เรื่อง “นโยบายรัฐ ทุน กับการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารท้องถิ่น: กรณีศึกษาผู้ผลิตรายย่อยผู้ปลูกต้นหอม (หอมแบ่ง) ในพื้นที่ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม” ของ มุกดา สุวรรณศรี และบัวพันธ์ พรหมพักพิง ที่แสดงข้อค้นพบที่สำคัญเกี่ยวกับนโยบายรัฐที่เชื่อมโยงอยู่กับการจัดการจัดระเบียบเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ บทบาทต่อการปรับเปลี่ยนคุณประโยชน์ของระบบนิเวศ และกิจกรรมของระบบอาหารท้องถิ่น ที่ส่งผลต่อการขยายตัวของตลาด การกระจายอาหารและเผชิญกับเงื่อนไขข้อจำกัดที่มีความซับซ้อนหลายด้านของผู้ผลิตรายย่อยภายในระบบอาหารท้องถิ่นที่ต้องอาศัยการบูรณาการแบบร่วมมือทั้งในเชิงแนวคิดและการปฏิบัติการจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกมิติ

            ต่อมาเป็นบทความวิชาการ “การจัดการภาคีสาธารณะแนวใหม่กับการพัฒนาสังคมตามหลักการ BCG” ของ อุทิศ ทาหอม ที่นำเสนอการจัดการภาคีสาธารณะแนวใหม่กับการพัฒนาสังคมตามหลักการ BCG ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย และเป็นเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ไทยต้องการบรรลุในปี ค.ศ. 2030 โดยผู้เขียนได้รวบรวมและนำเสนอกลยุทธ์ใหม่เพื่อให้การพัฒนาสังคมในยุคการเปลี่ยนแปลงใหม่นี้วิธีปฏิบัติที่แตกต่างไปจากเดิมและสามารถดำเนินการแก้ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

            บทความเรื่องที่ห้าว่าด้วยเรื่อง “การเสริมสร้างความเข้มแข็งนโยบายสวัสดิการสังคม: มุมมองแบบพหุลักษณ์ในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของคนจน” โดย กฤษณะโชติ บัวหล้า ที่นำเสนอการวิเคราะห์รูปแบบและข้อจำกัดของนโยบายสวัสดิการสังคมสำหรับคนจน รวมทั้งสังเคราะห์แนวทางการเสริมสร้างนโยบายสวัสดิการสังคมที่เข้มแข็งสำหรับคนจนให้เกิดเป็นความเข้มแข็งและนำไปเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ชุมชนมีสวัสดิการชุมชนที่ยั่งยืน

           กองบรรณาธิการเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า บทความทุกเรื่องที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารฉบับนี้จะมีคุณค่าและประโยชน์ต่อการนำไปใช้ประโยชน์และสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการด้านสังคมศาสตร์ต่อผู้อ่านทุกท่าน  ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ให้ความสนใจและติดตามความก้าวหน้าของวารสารพัฒนศาสตร์มาตลอด

Downloads

Download data is not yet available.

Additional Files

เผยแพร่แล้ว

2022-12-27