บทบรรณาธิการ
บทบรรณาธิการ
บทคัดย่อ
วารสารพัฒนศาสตร์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (มกราคม - มิถุนายน 2567) ได้รวบรวมบทความวิจัยและบทความวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาจำนวน 6 เรื่อง เผยแพร่สู่ผู้อ่านโดยบทความทุกเรื่องได้ผ่านการตรวจพิจารณาคุณภาพอย่างเข้มข้นจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับบทความ จำนวน 3 ท่านต่อบทความ ในรูปแบบ Double-Blinded Peer Review
บทความเรื่องแรกเป็นบทความวิจัยเรื่อง การระดมทรัพยากร: การจัดการไฟป่าพื้นที่ดอยผาหม่น อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย โดย อดิศร ภู่สาระ และ สุมาลินี สาดส่าง ผู้เขียนได้นำเสนอการศึกษารูปแบบการระดมทรัพยากรเพื่อจัดการไฟป่า และการศึกษาปัญหาอุปสรรคของการระดมทรัพยากรเพื่อจัดการไฟป่า ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคม
บทความเรื่องที่สองเป็นบทความวิจัย เรื่อง การศึกษาบริบทชุมชนและการวางแผนพัฒนาชุมชนเมืองแบบมีส่วนร่วม ชุมชนทศทิศพัฒนา หมู่ที่ 2 ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดย วุฒิชัย สายบุญจวง และ สมทรง บรรจงธิติทานต์ ผู้เขียนได้ศึกษาวิถีการมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ของชุมชน
เรื่องที่สามเป็นบทความวิจัย การสร้างความหมายการต่อสู้เชิงอำนาจของผู้หญิงในภาพยนตร์ไทยผ่านตัวละครผู้หญิงประเภทบู๊ โดย กฤชณัท แสนทวี ที่มุ่งศึกษาการสร้างความหมายการต่อสู้เชิงอำนาจของผู้หญิงผ่านภาพแทนผู้หญิงที่มีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในการต่อสู่ตามแบบของผู้ชาย มีการเสนอทางเลือกและอุดมการณ์ตามแนวคิดสตรีนิยมตามกลุ่มสตรีนิยมแนวถอนราก ซึ่งพฤติกรรมดังกล่างมีความขัดแย้งกับบรรทัดฐานทางสังคมของผู้หญิงไทย ผลการศึกษาจะเป็นอย่างไรอยากให้ผู้อ่านติดตามต่อในบทความเพิ่มเติม
เรื่องที่สี่บทความวิจัยเรื่อง ประสบการณ์การย้ายถิ่นและความทรงจำของอดีตแรงงานข้ามชาติไทยในแอฟริกา โดย อารีรัตน์ สุวงศ์เครือ และบุศรินทร์ เลิศชวลิตกุล ได้ศึกษาปัจจัยที่ทำให้แรงงานไทยที่ตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศ และทำความเข้าใจว่าแรงงานไทยมีความทรงจำในการไปทำงานในแอฟริกาทั้งก่อน ระหว่างอยู่และหลังกลับคืนถิ่น และการปรับตัวระหว่างการใช้ชีวิตในแอฟริกาของแรงงานไทยในต่างประเทศ การรื้อฟื้นประสบการณ์ผ่านความทรงจำของปัจเจกที่สะท้อนถึงการสร้างความทรงจำร่วมกันผ่านเหตุการณ์และวัตถุในฐานะแหล่งความทรงจำที่ข้ามผ่านห้วงเวลาและสถานที่
ต่อมาเป็นบทความวิชาการ เรื่อง ภววิทยาของโครงสร้างพื้นฐานแก้มลิงบางบาล โดย คมลักษณ์ ไชยยะ ที่อธิบายถึงการมีอยู่ของแก้มลิงบางบาล ตัวตนความมีอยู่ของโครงสร้างพื้นฐานที่ผนวกรวมกับสรรพสิ่งรอบตัว
เรื่องสุดท้ายเป็นบทความวิชาการ การเมืองของระบอบรัฐสวัสดิการอนุรักษ์นิยมและการเคลื่อนไหวของเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ นาตยา อยู่คง ลักษมณ ชาตะนาวิน และรินรดา สิงหพงศ์ อธิบายถึงระบอบรัฐสวัสดิการและอุดมการณ์ทางการเมือง เพื่อวิเคราะห์ฐานคิดของนโยบายรัฐสวัสดิการของเครือข่าย We Fair ที่ตั้งอยู่บนหลักการของสวัสดิการถ้วนหน้าและสวัสดิการวงจรชีวิต บทความนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติการเคลื่อนไหวรัฐสวัสดิการ ทั้งการผลักดันชุดนโยบาย การเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ และการสะท้อนมุมมองของนักกิจกรรม
บทความทุกเรื่องในวารสารฉบับนี้ ได้ผ่านการกลั่นกรองเรียบเรียงอย่างเป็นระบบทั้งจากผู้เขียน ผู้ทรงคุณวุฒิ และกองบรรณาธิการวารสารฯ เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านจะได้แนวคิด องค์ความรู้และมุมมองใหม่ ๆ ทางวิชาการที่จะนำไปประยุกต์ใช้ทั้งในการทำงาน การศึกษา และการพัฒนางานวิจัย งานวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาให้มีความก้าวหน้าต่อไป ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามและสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับเรามาโดยตลอด
Downloads
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2024 ธิดารัตน์ ศักดิ์วีระกุล
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.