การจัดการทรัพยากรชุมชนโดยใช้ทุนทางสังคมภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญา
คำสำคัญ:
ทุนทางสังคม, การจัดการทรัพยากร, เกษตรผสมผสานบทคัดย่อ
บทความนี้เป็นการศึกษาการจัดการทรัพยากรของชุมชนผ่านการใช้ทุนทางสังคมตามแนวทางการทำเกษตรผสมผสานภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญาของหมู่บ้านดงดิบ ตำบลหนองใหญ่ อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้นำชุมชน ชาวบ้านที่มีส่วนร่วมในการทำเกษตรผสมผสาน ผลการศึกษาพบว่าชุมชนได้นำทุนทางสังคมมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อรื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่น และทุนดั้งเดิมอื่นๆ ที่เคยปฏิบัติสืบทอดนำกลับมาใช้ใหม่ (reborn) ควบคู่ไปพร้อมกับการทำเกษตรเชิงพาณิชย์ในระบบเกษตรพันธะสัญญา ด้วยการนำความรู้สึกรักถิ่น ความเป็นสายเลือดในระบบเครือญาติ มาใช้เป็นกลไกในการสร้างความสัมพันธ์ของชุมชนเพื่อให้เกิดปฏิบัติการรวมกลุ่มเกษตรผสมผสาน นำความรู้ด้านการเกษตรและแบบแผนการผลิตดั้งเดิมมาใช้เพื่อสร้างอาหารปลอดภัยและพึ่งพิงธรรมชาติได้ขณะเดียวกันก็สามารถปลูกพืชเชิงพาณิชย์เพื่อให้อยู่ได้ภายใต้ระบบตลาดแบบทุนนิยม การสอดผสานแนวทางในระบบการผลิตผ่านการรื้อฟื้นองค์ความรู้การทำเกษตรของชุมชนนำไปสู่การมีพันธะร่วมกันในการรื้อฟื้นและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีกำหนดแนวทางการทำเกษตรที่ปลอดภัย ข้อตกลง และบทลงโทษซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ในการใช้ทรัพยากรป่าไม้ และแหล่งน้ำร่วมกันเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของธรรมชาติไว้เป็นแหล่งอาหาร พร้อมกันนั้นสามารถนำผลผลิตที่ได้จากการทำเกษตรผสมผสานมาสร้างมูลค่าผ่านระบบตลาดสีเขียว จนเป็นที่รู้จักในฐานะชุมชนที่ผลิตอาหารปลอดภัย สามารถกำหนดราคาสินค้าในระบบตลาดได้เอง
คำสำคัญ: ทุนทางสังคม การจัดการทรัพยากร เกษตรผสมผสาน