“โนราตัวอ่อน : กรณีศึกษาโนราจำเรียง ชาญณรงค์”

Main Article Content

วชิราภรณ์ ชนะศรี
สาวิตร พงศ์วัชร์
บุญเดิม พันรอบ

บทคัดย่อ

              การศึกษาวิจัยเรื่อง “โนราตัวอ่อน : กรณีศึกษาโนราจำเรียง  ชาญณรงค์” มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อ     1) ศึกษาลักษณะ แนวคิด และรูปแบบการแสดงโนราตัวอ่อนของ โนราจำเรียง ชาญณรงค์ 2) ศึกษาเทคนิคการถ่ายทอดกระบวนการฝึกหัด และระบบโครงสร้างการเคลื่อนไหวในการแสดงโนราตัวอ่อนของโนราจำเรียง        ชาญณรงค์ โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ นางจำเรียง ชาญณรงค์ ปราชญ์ด้านการแสดงโนราตัวอ่อน และกลุ่มผู้ชมการแสดง เครื่องมือการวิจัย คือ แนวการสัมภาษณ์ และแบบบันทึกการสังเกต เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสังเกตแบบมีส่วนร่วม และไม่มีส่วนร่วม


              ผลการวิจัยพบว่า ด้านลักษณะของการแสดงโนราตัวอ่อนของ โนราจำเรียง  ชาญณรงค์ นิยมแสดงเพื่อ 1) ความบันเทิง และ 2) แก้บนครูหมอโนรา ด้านแนวคิดการแสดงโนราตัวอ่อนของ โนราจำเรียง ชาญณรงค์    ได้แก่ 1) ผู้แสดงต้องมีความเชื่อ ศรัทธาในบรรพบุรุษ 2) ผู้แสดงต้องมีพื้นฐานความรู้ที่ดีจากครูผู้สอน และมีการถ่ายทอดอย่างเป็นระบบ 3) ขณะที่ร่ายรำท่าทาง  ผู้แสดงสามารถรำท่าต่อด้วยการทำตัวอ่อน และขณะทำท่าตัวอ่อนต้องมีการร่ายรำประกอบ 4) ผู้แสดงสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนท่าได้อย่างอิสระ 5) ผู้แสดงจะมีท่ารำที่บอกถึงความสามารถในการอ่อนตัวที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ 6) การแสดงต้องรักษาเอกลักษณ์ของการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ และตามสายตระกูลของตนเอง และ 7) มีการผสมผสานกับศาสตร์ด้านอื่น ๆ ด้านรูปแบบของการแสดงโนราตัวอ่อนของ โนราจำเรียง  ชาญณรงค์ มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) เริ่มแสดงด้วยการว่ากลอนอยู่ในม่าน 2) แสดงท่ารำประสมท่าโนราตัวอ่อนตั้งแต่ท่าทางที่ง่ายไปหาท่ายาก 3) การขับกลอนที่ประพันธ์ขึ้นเอง ประกอบการรำสอดแทรกประสมท่าตัวอ่อนเล็กน้อย 4) การรำอวดมือ เป็นการรำท่านาด ท่าท่องโรง ท่าสอดสร้อย การเคล้าท่า หรือรำโนราตัวอ่อน


                   ด้านเทคนิคการถ่ายทอดและกระบวนการฝึกหัดการแสดงโนราตัวอ่อนของ โนราจำเรียง ชาญณรงค์ ต้องคำนึงถึงความพร้อมของร่างกายเป็นสำคัญ ได้แก่ การดัดตัว เพื่อให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นมีความยืดหยุ่น   การดัดมือ การดัดแขน การดัดหลัง และการดัดขา  ที่จะต้องเตรียมความพร้อมของร่างกาย และฝึกหัดอย่างสม่ำเสมอ กระบวนการพื้นฐานในการฝึก ได้แก่ การรำท่าครู 12 ท่า และการรำเพลงครูสอน โดยมีกระบวนการฝึกท่ารำ 2 ลักษณะ ได้แก่ ท่ารำท่าขี้หนอน และท่าแมงมุมชักใย โดยระบบโครงการสร้างการเคลื่อนไหวการแสดง ต้องเคลื่อนไหวร่างกายให้สอดคล้องกับท่ารำ

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์. (2539). โนรา : การรำผสมท่าแบบตัวอ่อน. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต, ภาควิชานาฏยศิลป์, คณะศิลปกรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

บุปผาชาติ อุปถัมภ์นรากร. (2552). โนรา : การอนุรักษ์การพัฒนาและการสืบสานศิลปะการแสดงภาคใต้. ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต, สาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์, คณะวัฒนธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ภูริตา เรืองจิรยศ. (2551). แนวคิดการสร้างสรรค์ระบำจากข้อมูลศิลปกรรมขอมโบราณ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานาฏยศิลป์ไทย, คณะศิลปกรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิมลศรี อุปรมัย. (2555). นาฏกรรมและการละคร: หลักการบริหารและการจัดการแสดง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สาวิตร พงศ์วัชร์. (2551). เอกสารประกอบการเรียนการสอนเพลงและการละเล่นพื้นบ้าน. สาขาวิชานาฏศิลป์, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์,มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต.

สุรพล วิรุฬห์รักษ์. (2547). หลักการแสดงนาฏยศิลป์ปริทรรศน์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.