บทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีกับการรับใช้สังคม

Main Article Content

ชิรวัฒน์ นิจเนตร

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงนโยบาย ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive research) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีในการรับใช้สังคม ตามกรอบแนวคิดเกี่ยวกับการรับใช้สังคม (University Engagement) 12 ด้านที่ผู้วิจัยได้สังเคราะห์ขึ้นจากการประมวลเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ 1) ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) เกี่ยวกับการรับใช้สังคมของมหาวิทยาลัยในมิติต่าง ๆ จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key informants) ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับต่าง ๆ และอาจารย์ผู้สอน ตัวแทนอาจารย์ในสภาวิชาการ ตัวแทนอาจารย์ในสภามหาวิทยาลัย ผู้นำชุมชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคลากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับภารกิจการรับใช้สังคม และ 2) ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) เป็นข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเอกสารต่าง ๆ เช่น แผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย รายงานประจำปี รายงานการตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลงานของมหาวิทยาลัยและของผู้บริหาร สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เพื่อศึกษาวิเคราะห์ภารกิจเกี่ยวกับการรับใช้สังคมตามกรอบแนวคิดที่ใช้ศึกษา การเก็บข้อมูลดำเนินการระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงสิงหาคม 2558 จากการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก ประกอบการสังเกต การจดบันทึก และบันทึกเสียง และการสนทนากลุ่ม (Focus group discussion)  ในการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์เปรียบเทียบอย่างต่อเนื่อง (Constantcomparative analysis) จัดหมวดหมู่จำแนกประเภทข้อมูลอย่างเป็นระบบด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) เปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างในคุณภาพและคุณสมบัติของข้อมูล และทำการวิเคราะห์อุปนัย (Analytical induction) ถึงประเด็นการรับใช้สังคมในแต่ละมิติ พบผลการวิจัยดังนี้


ในด้านการนำองค์กร จะเห็นว่ามหาวิทยาลัยมีทิศทางที่ชัดเจนในการรับใช้สังคม มีการกำหนดวิสัยทัศน์ แผน ยุทธศาสตร์และพื้นที่รับผิดชอบ แต่ตัวชี้วัดผลสำเร็จในการรับใช้สังคมยังไม่ชัดเจนเป็นรูปธรรม มีการกำหนดพื้นที่รับผิดชอบให้คณะต่าง ๆ ตามนโยบาย “หนึ่งคณะ 2 อำเภอ” การเลือกประเด็นการพัฒนา (Issues) แต่ละหน่วยงานดำเนินการเองตามความพร้อมของตนเอง ระบบและกลไกในการผลักดันนโยบาย การกำกับติดตามยังไม่ครบวงจร  ในด้านโครงสร้างการบริหาร พบว่ามหาวิทยาลัยมีผู้บริหารระดับรองอธิการบดีรับผิดชอบดูแลงานด้านการบริการชุมชน โดยมี “งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น” สังกัดกองกลาง สำนักงานอธิการบดี เป็นหน่วยงานรองรับพันธกิจนี้ มีคณะกรรมการบริการวิชาการที่ทำหน้าที่ประสานงานและรวบรวมงาน/โครงการ/กิจกรรม ของคณะต่าง ๆ เพื่อจัดทำแผนการบริการวิชาการแก่สังคมเสนอสภามหาวิทยาลัยอนุมัติงบประมาณเพื่อไปดำเนินการ  แต่ทุกหน่วยงานดำเนินการในลักษณะการบริการวิชาการแก่สังคม (Academic extension) มากกว่าแนวคิดการรับใช้สังคม


ในด้านการถ่ายทอดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์สู่หน่วยงานระดับปฏิบัติ ยังมีระบบและกลไกขับเคลื่อนที่ไม่ครบวงจร ขาดแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนและการทบทวนแผนที่เป็นระบบ ยังไม่ค่อยมีการกำกับติดตามและประเมินผลที่ต่อเนื่อง การปฏิบัติตามพันธกิจรับใช้สังคมจึงไม่ค่อยปรากฏผลชัดเจน โครงการ/กิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นงานบริการวิชาการ ผลงานรับใช้สังคมที่มีอยู่บ้างก็เป็นเรื่องของความสามารถและความถนัดส่วนบุคคล เนื่องจากมหาวิทยาลัยขาดแคลนบุคลากรที่มีความถนัด ความสนใจ และประสบการณ์ที่จะทำงานรับใช้สังคม ในด้านการจัดหลักสูตรและระบบการเรียนการสอน พบว่าหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน ได้ดำเนินการตามระบบการจัดการศึกษาตามปกติของมหาวิทยาลัยโดยทั่วไป ไม่ได้มีการออกแบบหลักสูตรให้สนองตอบต่อการรับใช้สังคมโดยตรง ไม่ปรากฏลักษณะรายวิชาที่จัดการเรียนรู้ด้วยการรับใช้สังคม (Service learning) ในหลักสูตรต่าง ๆ มีแต่รายวิชาฝึกงานหรือฝึกประสบการณ์วิชาชีพ


ในด้านการพัฒนาอาจารย์ การกำหนดภาระงาน เงื่อนไขการปฏิบัติงาน และการให้ความดีความชอบ มหาวิทยาลัยยังไม่มีการเตรียมบุคลากร แผน และมาตรการในการรับบุคลากรเข้ามาปฏิบัติพันธกิจนี้ ส่วนมากใช้วิธีการสรรหาตามปกติ จึงขาดแคลนบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่พร้อมจะปฏิบัติงานรับใช้สังคม ไม่มีภาระงานและระบบจูงใจ (Incentives) ที่เป็นเงื่อนไขพิเศษในการพัฒนาอาจารย์เพื่อรองรับพันธกิจการรับใช้สังคม  ผู้บริหาร อาจารย์ และนักศึกษามีความสัมพันธ์กับชุมชนในระดับค่อนข้างดี ส่วนใหญ่เป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนและการบริการวิชาการตามแผนงานของมหาวิทยาลัย ในลักษณะการสำรวจหรือจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานของชุมชน จัดอบรมสัมมนาถ่ายทอดความรู้หรือทักษะต่าง ๆ การบรรยายทางวิชาการฯ ส่วนการรับใช้สังคมในลักษณะที่ทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน เช่น การวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของชุมชน แล้วมาศึกษา ทดลอง ปฏิบัติการ หรือแก้ไขให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนในด้านต่าง ๆ ยังมีน้อย ในด้านการวิจัยเพื่อรับใช้สังคม พบว่า งานวิจัยเชิงปฏิบัติการ การวิจัยแบบมีส่วนร่วม หรือการวิจัยเชิงพื้นที่ ซึ่งโจทย์วิจัยต้องได้มาจากการประเมินความต้องการของชุมชน อาศัยเครือข่ายและความร่วมมือจากชุมชน และมีผลกระทบต่อสังคม ด้านรายได้ สุขภาพ ความเป็นอยู่ฯ  ยังมีน้อยเช่นเดียวกัน


ในด้านการสนับสนุนทรัพยากรจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย  พบว่า มหาวิทยาลัยมีการจัดสรรเงินทุนอย่างเพียงพอในการในสนับสนุน ส่งเสริม และการมีส่วนร่วมในงานรับใช้ชุมชนของนักศึกษาและบุคลากรในคณะและสาขาวิชา ส่วนใหญ่จัดสรรจากงบประมาณแผ่นดิน มีหลายกรณีที่มหาวิทยาลัยปฏิบัติพันธกิจรับใช้สังคมโดยใช้งบประมาณจากหน่วยงานภายนอก  พันธมิตรภายนอกที่ร่วมทำงานรับใช้ชุมชนกับมหาวิทยาลัยอย่างจริงจังและมีผลงานที่เกิดกับชุมชนจริง ๆ มีน้อย ทั้ง ๆ ที่มีข้อตกลงหรือ MOU กับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ มากมาย การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับใช้สังคมก็ยังไม่จริงจังและทั่วถึง


ผลการวิจัยนำไปสู่ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาหลายประการคือมหาวิทยาลัยต้องเร่งพัฒนาศักยภาพในการทำงานรับใช้สังคมให้เกิดผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของคนในท้องถิ่นเป้าหมาย ปรับแผนปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมและมีมาตรการกำกับติดตามการทำงานรับใช้สังคมอย่างจริงจัง ผู้บริหารต้องสร้างความตระหนักและความรับผิดชอบในการรับใช้สังคมแก่ทุกฝ่ายในมหาวิทยาลัย สร้างระบบจูงใจและพัฒนาอาจารย์และพนักงานให้มีทักษะและความชำนาญในการทำวิจัย โครงการพัฒนา และงานบริการรับใช้สังคม ตลอดจนจัดการเรียนการสอนในรายวิชาต่าง ๆ ให้เชื่อมโยงกับการรับใช้สังคมในแต่ละด้าน ให้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนอย่างแท้จริง โดยการกำกับติดตามผลอย่างใกล้ชิด การร่วมมือกับพันธมิตรภายนอกมหาวิทยาลัยต้องเน้นไปที่การวิจัยเพื่อแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการของชุมชน และแสวงหาทรัพยากรสนับสนุนการดำเนินงานจากภายนอกเพิ่มขึ้น

Article Details

บท
บทความวิจัย
Author Biography

ชิรวัฒน์ นิจเนตร, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตสาขาภาวะผู้นำการจัดการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

References

งานประชาสัมพันธ์ กองกลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 5 ทศวรรษ มช. รวมพลังเพื่อแผ่นดิน ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 กันยายน-ธันวาคม 2556 หน้า 10_ 1chiangmai u.pdf-Foxit Reader

ชิรวัฒน์ นิจเนตร (2557) “ความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดทางอารมณ์ รูปแบบการเรียนรู้ อัตราการเข้าเรียน และขนาดชั้นเรียนกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาการวิจัยทางการศึกษาของนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต” ใน วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2557 หน้า 1 – 32.

นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล (2557) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและพันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม ใน www.engagementthailand.org/images/2014conference/ppt-Narin.pptx

ปฐม มณีโรจน์. (2545) “วิวัฒนาการและความเป็นอิสระของการจัดการอุดมศึกษาของไทย” ใน อำนาจอิสระของการบริหารมหาวิทยาลัยไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย หน้า 1-72.

รัตนวดี เศรษฐจิตร.(2558) มหาวิทยาลัยรับใช้สังคมในบริบทศตวรรษที่ 21: พะเยาโมเดล. สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย. สกว.สัญจร : ABC สร้างความรู้สู่โอกาสและทางเลือกของสังคมไทย เล่มที่ 8

Carnegie Foundation for the Advancement of Teaching, (n.d.). Retrieved February 22, 2008. available at http://www.carnegiefoundation.org/

Glenn Bowen, Center for Service Learning, Western Carolina University (slightly adapted) – October 11,2007Hall, Budd L. (2009) Higher Education, Community Engagement, and the Public Good :Building the Future of Continuing Education in Canada. Canadian Journal of University Continuing Education Vol. 35 No. 1, spring 2009 pp. 11–23

Hart, A., Northmore, S., and Gerhardt, C. (2009). “Briefing Paper : Auditing, Benchmarking, and Evaluating Public Engagement” available at www.publicengagement.ac.uk/sites/default/files/EvaluatingPublicEngagement_O.pdf

Holland, B. & Ramaley, J. (2008). Creating a supportive environment for community-university engagement: Conceptual frameworks. Keynote address to the HERDSA Annual Conference, Rotorua, New Zealand, July 1-4, 2008.

Hollander, Saltmarsh, & Zlotkowski, “Indicators of Engagement.” (2002). in Simon, Kenny, Brabeck, & Lerner (Eds.), Learning to Serve: Promoting Civil Society through Service-Learning . Norwell , MA : Kluwer Academic Publishers,.

Strand, K., Marullo, S., Cutforth, N., Stoecker, R. & Donohue, P. (2003). Principles of best practice for Community-based research. Michigan Journal of Community Service Learning, 9(3), 5–15.

University of Louisville, Community Engagement Glossary of Terms. Recommendation of the Community Engagement Steering Committee February 4, 2011 Acknowledgements Henry Cunningham (OCE)/Patty Payette (i2A)/Connie Shumaker (OCE/Provost) Co-Chairs: Daniel Hall, Vice President, Community Engagement, Dale Billingsley, Vice Provost for Undergraduate Affairs

The self-study process for the Carnegie Foundation Community Engagement Application 2008. available at http://louisville.edu/communityengage ment/carnegie-community-engagement-process-2008/carnegie.html