จิตสำนึกสาธารณะ : อำนาจแห่งเรื่องเล่าบ้านทรายขาว

ผู้แต่ง

  • วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

คำสำคัญ:

พลวัต, เรื่องเล่า, อัตลักษณ์, จิตสำนึกสาธารณะ

บทคัดย่อ

งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพลวัต (dynamic) ในชุมชนทรายขาว ที่ประกอบด้วยประชากรที่มีความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์ ศาสนาและวัฒนธรรม ผ่านปรากฎการณ์ความไม่รุนแรงในสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพื่อศึกษาว่าเรื่องเล่ามีอิทธิพลต่อการสร้างจิตสำนึก สาธารณะได้อย่างไร โดยศึกษาจากกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้นำทั้งฝ่ายจิตวิญญาณ และฝ่ายการปกครองส่วนท้องถิ่น และกลุ่มชาวบ้านโดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงอายุคนที่แตกต่างกัน เพื่อจะได้เห็นพลวัต (dynamic) ที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุคน และการสังเกตการณ์แบบเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมงานแต่งงานของคนไทยพุทธ และกิจกรรมงานเมาลิดของคนไทยอิสลาม

ผลการวิจัยพบว่า เรื่องเล่าบ้านทรายขาวที่เล่ากันมารุ่นต่อรุ่นตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ จนถึงปัจจุบันมีอิทธิพลต่อความเชื่อและพฤติกรรมของคนไทยพุทธและไทยอิสลาม 6 หมู่บ้านที่ตำบลทรายขาวที่มีความแตกต่างทางด้านศาสนา แต่กลับมีความเชื่อและพฤดิกรรมในการดำรงอยู่ที่เหมือนกัน และมีการรับเอาประเพณีของแต่ละศาสนามาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดอัตลักษณ์ของคนตำบลทรายขาวทั้งความเชื่อและพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนไทยมุสลิมต่างพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคไต้ โดยเฉพาะ "ภาษา" คนไทยอิสลามตำบลทรายขาวไม่ใช้ภาษามลายูเหมือนกับคนไทยมุสลิมส่วนใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ใช้ภาษาท้องถิ่น "ทรายขาว" ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับภาษาไทยใต้ จากการใช้ภาษาเดียวกันในคนตำบลทรายขาว ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ไว้วางใจซึ่งกันและกัน นำมาซึ่งจิตสำนึกร่วมใน "ความเป็นคนทรายขาว" และนำมาซึ่งความเข้าใจกัน ช่วยเหลือไปมาหาสู่และมองว่ากิจกรรมต่าง ๆ ของต่างหมู่บ้านตามประเพณีของแต่ละศาสนาเป็นกิจกรรมร่วมกันของทั้งตำบลโดยไม่แยกว่าเป็นของคนไทยพุทธเช่น ประเพณีชักพระ หรืองานกวนอาชูรอห์ของไทยอิสลาม เหล่านี้ล้วนแสดงออก ซึ่ง "จิตสำนึกสาธารณะ" นำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งปราศจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ตำบลทรายขาว

คนไทยพุทธและไทยอิสลามที่นิยมตนเองว่าเป็น "คนทรายขาว" สรุป 6 ที่มาของความไม่รุนแรงในพื้นที่ตำบลทรายขาวในสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ว่ามาจาก 1. ความไม่หวาดระแวงซึ่งกันและกันระหว่างคนไทยพุทธและ ไทยอิสลามในพื้นที่ตำบลทรายขาว 2. ความเข้าใจกันระหว่างคนไทยพุทธและไทยอิสลามในพื้นที่ตำบลทรายขาว 3. ความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน : "คนทรายขาว" 4. ภาษาเดียวกัน 5. ความเข้มแข็งของผู้นำ และ 6. คนทรายขาวเป็นคนทำมาหากิน

References

กาญจนา แก้วเทพ กรวิเคราะห์สื่อ : แนวคิดและเทคนิค. กรุงเทพมหานคร: คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.

กาญจนา แก้วเทพ. สื่อสารมวลชน : ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, 2541.

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. "เทววิทยาแห่งวาทกรรม : ทำความเข้าใจอำนาจแห่งวาทกรรมด้วยนารายณ์สิบปาง" สมุดสังคมศาสตร์ 12 : 3-4 (กุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2533) : 175-191.

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์และความเป็นอื่น. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก, พ.ศ.2542

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. สัญวิทยา โครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยมกับการศึกษารัฐศาสตร์. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วิภาษา, 2545

ธงชัย วินิจจะกูล. "วิธีการศึกษา ประวัติศาสตร์แบบวงศาวิทยา (Genealogy)" รายงานโครงการวิจัยเสริมหลักสูตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2534.

ธเนศ วงศ์ยานนาวา. การวิเคราะห์ซับเจค (Subject : ทฤษฎีที่ไร้ทฤษฎีว่าด้วยอำพาจของมิเชล ฟูโก) กรุงเทพฯ : ศูนย์วิจัยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2532.

ธีระ นุชเปี่ยม. "ความรู้ อำนาจ อุดมการณ์ในวาทกรรมทางประวัติศาสตร์" วารสารร่มพฤกษ์ 15 : 2 (ตุลาคม 2539-มกราคม 2540) : 6-21.

Foucault, M. The Archaeology of Knowledge. Trans. Alan Sheridan. Vintage,1972.

Foucault, M. Discipline and Punish : Birth of the Prison. Trans. Alan Sheridan. London Pelican, 1977

Foucault. M. History of Sexuality, vol. I : An Introduction. Trans. R. Harley. New York, 1978.

Foucault. M Madness and Civilization : A History of Insanity in the Age of Reason. trans. Richard Howard. London: Tavistock, 3 rd Impression, 1965.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-08-14