บทบรรณาธิการ
วารสารรัชต์ภาคย์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 61 พฤศจิกายน - ธันวาคม พ.ศ. 2567 เป็นวารสารที่เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ โดยทางกองบรรณาธิการ ได้รักษามาตรฐานตามกรอบของวิชาการ พร้อมทั้งดำเนินงานเพื่อผลักดัน และพัฒนาคุณภาพของบทความวิชาการและบทความวิจัย ตามมาตรฐานของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI)
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม เพราะมีความหลากหลายและมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ประเทศไทยเป็นปลายทางการท่องเที่ยวที่ติดอันดับโลก เนื่องมาจากจุดเด่นของการใช้นโยบาย Soft Power 5 F ได้แก่ F-Food, F-Film, F-Fashion, F-Fighting และ F-Festival ซึ่งนับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี รวมทั้งในสังคม ณ ปัจจุบัน มีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตอย่างอัจฉริยะ โดยมีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และหุ่นยนต์ เป็นเทคโนโลยีสำคัญในการขับเคลื่อน โดยมุ่งสู่เป้าหมายของยุค Super Smart Society หรือ Thailand 5.0 ซึ่งจะมีการควบรวมระหว่างโลกทางกายภาพ (Physical Space) ซึ่งเป็นโลกที่มนุษย์ใช้ชีวิตผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เข้ากับโลกเสมือน (Cyber Space) ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อทุกด้านของชีวิตมนุษย์ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็การปรับตัวและพัฒนาศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการทางการท่องเที่ยวในทุกภาคส่วน โดยนำแนวคิดเทคโนโลยีอัจฉริยะทางการท่องเที่ยว (Smart Tourism Technology) ที่เป็นเครื่องมือหนึ่งมาใช้ประโยชน์ในการสร้างกระบวนการการนำเสนอสินค้าและบริการให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดังเช่นบทความวิจัยที่น่าสนใจในฉบับนี้ คือ “ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุเทคโนโลยีอัจฉริยะทางการท่องเที่ยว ประสบการณ์ ความผูกพัน และความตั้งใจเชิงพฤติกรรมของผู้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย” ของ ภัทรมุข พงษธา, สันติธร ภูริภักดี และ วิโรจน์ เจษฎาลักษณ์ ที่ค้นพบองค์ความรู้ใหม่ คือ องค์ประกอบของเทคโนโลยีอัจฉริยะทางการท่องเที่ยวในพิพิธภัณฑ์ ได้แก่ องค์ประกอบด้านการให้ข้อมูลการโต้ตอบสื่อสารการเข้าถึงการใช้งาน ความเฉพาะเจาะจง ความปลอดภัย ประสิทธิภาพในการใช้งาน และความทันสมัย เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มีประสบการณ์ในระหว่างการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ด้านความบันเทิง การศึกษา สุนทรียศาสตร์ และการหลีกหนี อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดเป็นผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มีความรู้สึกผูกพันต่อการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลต่อพฤติกรรมในอนาคตของผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ได้แก่ การบอกเล่าเรื่องราวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การแนะนำบอกต่อ และการกลับมารับประสบการณ์ที่พิพิธภัณฑ์ซ้ำอีก นอกจากนั้น งานวิจัยนี้ยังค้นพบบทบาทใหม่ของตัวแปรประสบการณ์และความผูกพันของผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ว่ามีอิทธิพลในการส่งผ่านความสัมพันธ์ของเทคโนโลยีอัจฉริยะทางการท่องเที่ยวในพิพิธภัณฑ์และความตั้งใจเชิงพฤติกรรมของผู้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยอีกด้วย โดยสามารถอธิบายด้วยโมเดลภาพได้ ดังนี้
ทางกองบรรณาธิการวารสารรัชต์ภาคย์ พร้อมสนับสนุนนักวิชาการ อาจารย์ รวมไปถึงนักศึกษาที่มีความสนใจในการเผยแพร่บทความวิจัยและบทความวิชาการ เพื่อเสริมคุณค่าและพัฒนาคุณภาพงานทางวิชาการในระดับชาติระดับนานาชาติ และก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม
ดร. ธันยนันท์ จันทร์ทรงพล
บรรณาธิการ