การจัดทำวารสาร “รัฐศาสตร์นิเทศ” ฉบับนี้มีลักษณะแปลกไปจากแต่ก่อนพอสมควร เนื่องจากคนที่เกี่ยวข้องเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ประสานงานตัวบรรณาธิการ เจ้าหน้าที่โรงพิมพ์ หรือฝ่ายพิสูจน์อักษร ต่างอยู่บ้านทำต้นฉบับกัน สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ทวีความสาหัสนับตั้งแต่ประมาณต้นปี อันที่จริง งานวารสารถือว่าได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะในแง่การพิจารณาบทความ กระบวนการนั้นดำเนินไปผ่านระบบออนไลน์ของ Thai Journals Online (ThaiJO) อยู่แล้ว ตั้งแต่ขั้นตอนเปิดรับบทความจากผู้เขียน ขั้นตอนประเมินบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ไปจนถึงขั้นตอนแก้ไขปรับปรุงบทความตามผลประเมิน ส่วนในแง่การผลิตต้นฉบับ เจ้าหน้าที่โรงพิมพ์ ซึ่งทำงานแบบ “Work from Home” จัดการวางหน้าและส่งไฟล์ให้ทางวารสารตรวจสอบผ่านอีเมล์ ท้ายที่สุด งานจึงสามารถเดินไปได้ค่อนข้างราบรื่น สำเร็จออกมาเป็นวารสารที่ท่านผู้อ่านถืออยู่ในมือ โดยฉบับนี้มีความหนากว่าปกติด้วย (แต่ไม่เพิ่มราคา เพื่อผู้อ่านทุกท่าน)

     สำหรับบทความในวารสารฉบับนี้ ต้องกล่าวว่า เนื้อหามีความหลากหลาย บทความของ ชาย ไชยชิต ไปสำรวจแนวคิดของ ฮันส์ เคลเซ่น (Hans Kelsen) นักวิชาการชาวออสเตรียผู้มีอิทธิพลต่อวงการนิติศาสตร์ โดยเฉพาะช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 บทความชิ้นต่อมาโดย สุนิสา ช่อแก้ว มุ่งฉายภาพความ เปลี่ยนแปลงของรัฐไทยในด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ส่วนบทความของ พีระ เจริญวัฒนนุกูล พยายามนำกรณีศึกษาในอดีตมาใช้สร้างข้อถกเถียงเชิงทฤษฎีว่าด้วยพฤติกรรมแสวงหาสถานะของรัฐบนเวทีโลก และสุดท้าย บทความของ นฤมล นิ่มนวล สรุปภาพรวม พร้อมวิเคราะห์เนื้อหาแบบเรียนในระบบการศึกษาไทยช่วงปี พ.ศ. 2503-2516 ว่า มีเป้าหมายกล่อมเกลาเยาวชนให้มีค่านิยม ทัศนคติ และความคิดอ่านทางการเมืองอย่างไรบ้าง ทางกองบรรณาธิการหวังว่า จะยังคงได้รับความอนุเคราะห์จากผู้อ่านต่อไปในอนาคต และขอเชิญชวนทุกท่านที่สนใจส่งบทความมาเพื่อรับการพิจารณาตีพิมพ์

 

กองบรรณาธิการ
วารสารรัฐศาสตร์นิเทศ

เผยแพร่แล้ว: 28-06-2021