กาแฟชนเผ่า ทุนทางวัฒนธรรมและ การเป็นผู้ประกอบการของ กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ

ผู้แต่ง

  • ปิยนาถ สรรพา

บทคัดย่อ

บทความนี้นำเสนอประเด็นการก้าวมาสู่การเป็นผู้ประกอบการกาแฟของชาวชนบทชาติพันธุ์ปกาเกอะญอในพื้นที่หมู่บ้านหนองเต่า ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ งานวิจัยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาขั้นตอนการก้าวมาเป็นผู้ประกอบการกาแฟของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ 2) เพื่อศึกษาการใช้กาแฟเป็นเครื่องมือในการต่อรองอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ โดยใช้วิธีการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มผู้ประกอบการ

ผลการศึกษาพบว่า การก้าวมาเป็นผู้ประกอบการของปกาเกอะญอมาจากกระแสความนิยมในการบริโภคกาแฟที่เพิ่มขึ้น เปิดโอกาสให้คนปกาเกอะญอพัฒนาผลผลิตกาแฟเดิมที่มีอยู่ โดยมีแนวคิดในการจัดการทรัพยากรและพื้นที่การผลิตให้มีคุณค่า และมีความต้องการผลักดันให้เกิดการค้าที่เป็นธรรม รวมถึงการสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่กลับมาอยู่ในชุมชน ทั้งนี้การเป็นผู้ประกอบการกาแฟได้อาศัยทุนทางวัฒนธรรมของปกาเกอะญอสร้างให้สินค้ามีเรื่องราวน่าสนใจดึงดูดผู้บริโภคได้เข้ามาทำความรู้จักชีวิตคนปกาเกอะญอ กาแฟถูกใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางชุมชนเพื่อแสดงอัตลักษณ์ปกาเกอะญอในด้านการใช้ชีวิตเกษตรอนุรักษ์ทรัพยากร และเป็นการต่อรองกับการกำหนดนิยามการพัฒนาสำหรับคนชนบทชาติพันธุ์ ผู้ประกอบปกาเกอะญอพยายามแสดงให้เห็นการพัฒนาในทิศทางและรูปแบบของพวกเขาเอง

 

คำสำคัญ : ชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ,ผู้ประกอบการชนบท,กาแฟ,กระบวนการเคลื่อนไหวทางชุมชน,ทุนทางวัฒนธรรม

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-06-03