แนวทางการสนับสนุนทางสังคมเพื่อพัฒนาทักษะการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างรู้เท่าทันในผู้สูงอายุ

ผู้แต่ง

  • เบญจรัตน์ สัจกุล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
  • โกสิน เทศวงษ์ วิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
  • สุธีรา แสนมนตรีกุล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

คำสำคัญ:

การสนับสนุนทางสังคม, สื่อสังคมออนไลน์, ผู้สูงอายุ, รู้เท่าทันสื่อ

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุในพื้นที่บริบทชุมชนเมือง กรุงเทพมหานคร จำนวน 6 เขต ได้แก่ เขตทวีวัฒนา เขตสัมพันธวงศ์ เขตหนองแขม เขตบางกะปิ  เขตสาทร และเขตบางซื่อ โดยศึกษาพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์และทักษะการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ พร้อมทั้งนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยนี้เป็นแนวทางการสนับสนุนทางสังคมเพื่อพัฒนาทักษะการใช้สื่อแก่ผู้สูงอายุสร้างหลักสูตรเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุอย่างปลอดภัย สร้างสรรค์ และรู้เท่าทัน โดยใช้แรงสนับสนุนทางสังคมเป็นกลไกหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเครือข่ายกลุ่มทางสังคมที่มีส่วนสำคัญต่อการสร้างพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงานด้านการส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบกับการเสริมพลังกลุ่มเยาวชนเพื่อสร้างเครือข่ายอาสาเทคโนโลยีอันเป็นแรงสนับสนุนทางสังคมที่สำคัญต่อการช่วยเหลือ สนับสนุนการใช้สื่อของผู้สูงอายุให้เกิดการรู้เท่าทัน อีกทั้งยังเป็นผสานความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างวัย

การศึกษานี้เป็นแบบผสานวิธี โดยศึกษาวิจัยเชิงปริมาณและวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งผลจากการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการสนับสนุนทางสังคม จะถูกนำมากล่าวถึงในบทความนี้เป็นส่วนหลัก ดังนี้

ผลการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณด้านการสนับสนุนทางสังคมที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุ อันประกอบด้วย แรงสนับสนุนด้านสิ่งของ แรงสนับสนุนด้านอารมณ์ แรงสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสาร และแรงสนับสนุนด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคมนั้น พบว่า รูปแบบการสนับสนุนทางสังคมที่กลุ่มตัวอย่างได้รับตามลำดับ ได้แก่ 1. ด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.76) 2. ด้านอารมณ์ (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.65) และ  3. ด้านข้อมูลข่าวสาร (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.57) กล่าวคือ ผู้สูงอายุได้รับการสนับสนุนด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในการสื่อสารกับสมาชิกในครอบครัวได้มากขึ้น และการสนับสนุนด้านอารมณ์ในแง่ของการได้รับการดูแล เอาใจใส่ รวมถึงได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง ตลอดจนการสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสารโดยได้รับคำแนะนำจากบุคคลใกล้ชิดเกี่ยวกับการให้ข้อมูลในการใช้สื่อ รวมถึงวิธีการพิจารณาข้อมูลข่าวสารจากสื่อออนไลน์ ซึ่งข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นสอดคล้องกับการศึกษาเชิงคุณภาพ ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัย สร้างสรรค์ รู้เท่าทัน เนื่องจากได้รับประสบการณ์ที่ดีทั้งในโลกออนไลน์และโลกชีวิตจริง ตระหนักถึงประโยชน์ของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งได้รับการสนับสนุนทางสังคมทั้งทางด้านสังคม อารมณ์ และข้อมูลข่าวสาร มีเครือข่ายทางสังคมที่ดี สามารถพึ่งพาอาศัยได้ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและตระหนักคุณค่าในตนเองมากยิ่งขึ้น

References

กชกร บุญยพิทักษ์สกุล. (2561). ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างรู้เท่าทันของนักศึกษาปริญญาตรีในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล. วารสารพฤติกรรมศาสตร์, 25(2), 39-59.

ประสิทธิชัย นรากรณ์. (2561). คุณภาพความสัมพันธ์และแรงสนับสนุนทางสังคมในฐานะตัวแปร เชื่อมโยงระหว่าง โซเชียลคอมเมิร์ซกับความตั้งใจซื้ออย่างต่อเนื่อง. วารสารวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย, 13(1), 44-69

ปราโมทย์ ประสาทกุล, จงจิตต์ ฤทธิรงค์, ศุทธิดา ชวนวัน, ณปภัช สัจนวกุล, สุภรต์ จรัสสิทธิ์, กาญจนา เทียนลาย. (2565). สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2564. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม.

สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. (2565). สำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ.2565 (ไตรมาส 1).

Malik, M. M., Cortesi, S., & Gasser, U. (2013). The challenges of defining ‘news literacy. Berkman Center Research Publication (2013-20).

Diteeyont, W., & Ku, H.-Y. (2021). Internet literacy among the elderly in Thailand. Educational Media International, 58(3), 248-260.

Jones-Jang, S. M., Mortensen, T., & Liu, J. (2021). Does Media Literacy Help Identification of Fake News? Information Literacy Helps, but Other Literacies Don’t. American Behavioral

Scientist, 65(2), 371–388. https://doi.org/10.1177/0002764219869406

Liping Fu and Yu Xie. (2021). The Effects of Social Media Use on the health of Older Adults: An Empirical Analysis Based on 2017 Chinese General Social Survey. Healthcare, 2021, 9(9), 1143. https://doi.org/10.3390/healthcare9091143

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-06-28