เหมือนเช่นเคย วารสารรัฐศาสตร์นิเทศฉบับนี้คัดเอาบทความที่น่าสนใจและทันสมัยมาฝากผู้อ่านทุกท่านช่วงส่งท้าย พ.ศ. 2565 บทความชิ้นแรกเรื่อง “ปัญหาข่าวลวงทางการเมืองบนสื่อสังคมออนไลน์: ความท้าทายในการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย” ถกประเด็นที่ทุกวันนี้กำลังเป็นเรื่องใหญ่ไม่เพียงสำหรับประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมถึงเกือบทุกประเทศในโลก อะไรคือ “ข่าวลวง” และเราควรจัดการกับปัญหานี้อย่างไร แค่ไหน โจทย์เหล่านี้ถือเป็นความท้าทายของแต่ละสังคมที่จะต้องคิดหาจุดสมดุลระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกกับความสงบเรียบร้อยของสังคม คำตอบที่ได้จะกำหนดทั้งธรรมชาติของโลกเสมือนจริงและสภาพการเมืองในโลกแห่งความเป็นจริง ต่อมา บทความชิ้นที่ 2 เรื่อง “ศาลรัฐธรรมนูญไทยกับการส่งเสริมหลักนิติธรรมในระบบรัฐสภา” ย้อนกลับไปดูที่มาในทางหลักการของกระบวนการทบทวนทางรัฐธรรมนูญ (constitutional review) ช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยตั้งคำถามต่อการดำรงอยู่ของศาลรัฐธรรมนูญ บ้างถึงขั้นเรียกร้องให้ยุบเลิกองค์กรนี้ หรือทำการยกเครื่องขนานใหญ่ ดังนั้น บทความชิ้นนี้น่าจะเป็นประโยชน์ อย่างน้อยในแง่ของการศึกษาความจำเป็นในเชิงทฤษฎีของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนการออกแบบกลไกให้ความจำเป็นดังกล่าวได้รับการตอบสนอง โดยไม่ก่อผลเสียหาย หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย คงเป็นเรื่องที่ยังคงรอคนมาเสนอทางออกต่อไป บทความชิ้นที่ 3 เรื่อง “ความรับผิดชอบในการปกป้อง (R2P) ทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ” ชวนผู้อ่านทำความเข้าใจพันธะหน้าที่ของรัฐ เนื้อหาไม่เพียงอธิบายหลัก R2P ทว่ายังถกสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเวลานำหลักนี้ไปใช้ด้วย ทั้งจากมุมของทางการและสังคม ในอนาคตข้างหน้า หลัก R2P คงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่รังแต่จะเพิ่มความสำคัญ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มากไปด้วยความอึดอัดคับข้องใจของผู้คนทั่วโลก จะเพราะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็ดี เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ดี หรือเพราะช่องว่างระหว่างช่วงวัย (generation) ก็ดี ภาครัฐย่อมต้องตระหนักและขบคิดให้แตกว่า จะนำหลัก R2P ไปปรับใช้อย่างไร ท้ายที่สุด บทความเรื่อง “บริบท แนวนโยบาย โครงสร้าง และการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม” เสนอประเด็นที่กำลังสร้างความยากลำบากให้แก่หลายหน่วยงานราชการในประเทศไทย เรามักมองหน่วยงานราชการว่า ไม่มีปัญหาทางการเงินแบบหน่วยงานภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ทัศนะเช่นนี้ไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด เนื่องจากหน่วยงานราชการก็ต้องบริหารจัดการเงินของตน และความสามารถในการบริหารจัดการย่อมส่งผลโดยตรงต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการนั้น บทความชิ้นนี้พยายามเสนอทางออกผ่านการถอดบทเรียนจากกรณีศึกษาอย่างรอบด้านและจึงน่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนผู้ที่กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่

ทางกองบรรณาธิการขอขอบพระคุณท่านผู้อ่านที่ให้การสนับสนุนตลอดปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับผู้เขียนที่ให้เกียรติใช้วารสารรัฐศาสตร์นิเทศเป็นพื้นที่เผยแพร่ผลงานของตน สำหรับปีหน้า ทางกองบรรณาธิการหวังว่า จะยังคงได้รับความอนุเคราะห์จากทุกท่านแบบนี้ต่อไป

กองบรรณาธิการ

วารสารรัฐศาสตร์นิเทศ

หมายเหตุ: สำหรับผู้ที่สนใจบทความฉบับเต็มสามารถติดต่อขอซื้อได้ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ชั้น 2

เผยแพร่แล้ว: 28-12-2022