บทบรรณาธิการ
วารสารรัชต์ภาคย์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 60 กันยายน - ตุลาคม พ.ศ. 2567 เป็นวารสารที่เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ โดยทางกองบรรณาธิการ ได้รักษามาตรฐานตามกรอบของวิชาการ พร้อมทั้งดำเนินงานเพื่อผลักดัน และพัฒนาคุณภาพของบทความวิชาการและบทความวิจัย ตามมาตรฐานของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI)
พลวัตรแห่งการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยดำรงอยู่บนความท้าทายใหญ่ของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ (Climate Change), การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ (Inclusive Capital), การเปลี่ยนสู่ดิจิทัลและพลังงาน (Digital & Energy Transformations), สุขภาพและโรคระบาด (Health & Pandemic) เป็นต้น ทำให้ภาครัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปรับตัวเพื่อบริการสาธารณะที่มุ่งสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน ด้วยรูปแบบการให้บริการ เช่น e-Government ที่เป็นการจัดการบริการต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย หรือเรียกว่า “รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government)” ซึ่งเป็นการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ในองค์การ แต่เมื่อความท้าทายใหญ่ของโลกส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากในการดำรงชีวิตประจำวันของประชากรทั่วทั้งโลก และในประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบนั้นเช่นกัน
ภาครัฐไทยจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการยกระดับสู่การเป็น “รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government)” โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน และมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน (Government Integration) ก่อให้เกิดคุณค่าสาธารณะ โดยอาศัยระบบนิเวศของรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government Ecosystem) และให้บริการโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen-centric Services) เข้าสู่การเป็น “รัฐบาลที่ชาญฉลาด (Smart Government)” ได้อย่างแท้จริง โดยทางวารสารรัชต์ภาคย์ ขอเสนอบทความวิจัยที่น่าสนใจในฉบับนี้ คือ “User Adoption of Generative AI for Government Information Services in Thailand” ของ Wasinee Noonpakdee ที่ค้นพบองค์ความรู้ใหม่ คือ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประโยชน์ที่รับรู้ ความสะดวกในการใช้งาน และความน่าเชื่อถือ เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้โดยรวม การดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ การเน้นย้ำถึงประโยชน์ของ AI เชิงสร้างสรรค์ การออกแบบอินเทอร์เฟซที่ใช้งานง่ายและเป็นมิตรกับผู้ใช้ และการนำมาตรการและนโยบายด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดมาใช้ และเพื่อปรับปรุงการนำ AI เชิงสร้างสรรค์มาใช้ในบริการของรัฐบาลไทย รวมถึงประเทศอื่น ๆ สามารถขยายความรู้นี้เพื่อพัฒนากลยุทธ์ ซึ่งจะนำไปสู่บริการของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเข้าถึงได้ โดยสามารถอธิบายด้วยโมเดลภาพได้ ดังนี้
ทางกองบรรณาธิการวารสารรัชต์ภาคย์ พร้อมสนับสนุนนักวิชาการ อาจารย์ รวมไปถึงนักศึกษาที่มีความสนใจในการเผยแพร่บทความวิจัยและบทความวิชาการ เพื่อเสริมคุณค่าและพัฒนาคุณภาพงานทางวิชาการในระดับชาติระดับนานาชาติ และก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม
ดร. ธันยนันท์ จันทร์ทรงพล
บรรณาธิการ
Published: 2024-10-15